สภาพัฒน์ เผยปี 56 อัตราว่างงานเพิ่มเล็กน้อย คาดดีขึ้นในปีนี้/หนี้ครัวเรือนชะลอลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 24, 2014 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)รายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 4/56 และภาพรวมปี 56 ว่า ภาพรวมภาวะการจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อย แลประชาชนยังมีรายได้จากเงินเดือนและค่าจ้างเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานในปีนี้แม้ว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้เพียง 3-4% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4-5% แต่ยังคงแสดงถึงแนวโน้มการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ไตรมาส 4/56 การจ้างงานลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการว่างงานเท่ากับ 0.65% หรือมีผู้ว่างงาน 257,850 คน สูงกว่า 0.48% ในช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรกรรมลดลง 0.2% ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 1.7% เป็นการลดลงของการจ้างงานสาขาก่อสร้าง สาขาค้าส่ง/ค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และการศึกษา ขณะที่การจ้างงานสาขาขนส่งและการผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 190,245 คน ยังเป็นผลจากจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นและกำลังแรงงานลดลง ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 114,606 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 87.1% ขณะที่ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 143,244 คน เพิ่มขึ้น 11.0%

สรุปสถานการณ์แรงงานในปี 56 การจ้างงานลดลง 0.05% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ภาคเกษตรจ้างงานลดลง 0.12% และนอกภาคเกษตรจ้างงานลดลง 0.01% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของรัฐบาลที่ต่อเนื่อง เช่น รถยนต์คันแรก โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปี การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองส่งผลให้การจ้างงานลดลง ผู้ว่างงานเฉลี่ย 284,011 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.72% เพิ่มขึ้นจาก 0.66% ในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/56-ไตรมาส 4/56 โดยเท่ากับ 0.8% ในไตรมาสแรก และลดลง 0.9% 2.2% และ 3.6% ในไตรมาส 2-4 ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในปี 56 เพิ่มขึ้น 10.2% ขณะที่เงินเฟ้อเท่ากับ 2.2% ทำให้ค่าจ้างที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้น 7.8 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 2.9%

ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในปี 57 ปัจจัยบวกที่คาดว่าอาจจะมีผลต่อภาวะการมีงานทำและรายได้ของประชาชน ได้แก่ ภาวะการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลลบต่อการจ้างงาน ได้แก่ ความล่าช้าของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ ความเชื่อมั่นของธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และเกตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง นอกจากนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงเนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนมีน้อย จะมีผลต่อการมีงานทำและรายได้ของเกษตรกร

"ในปีนี้ควรเร่งเตรียมสภาพแวดล้อมของตลาดรแงงานให้พร้อมรับมือกับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับด้านการจ้างงาน การคุ้มครองแรงงาน และการเพิ่มทักษะแรงงาน"สภาพัฒน์ ระบุ

ด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สินครัวเรือนนตั้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 56 ครัวเรือนมีรายได้ 25,403 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.6% ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 19,259 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.2% ทำให้ครัวเรือนยังมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายประมาณ 6,144 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งจะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้หรือเก็บออม

ครัวเรือนมีหนี้สินจำนวน 159,492 บาทต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 8.7% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้ ลดลงจาก 55.8% ในปี 54 เป็น 54.4% ในปี 56 โดยประเภทการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หนี้เพื่อใช้ซื้อหรือเช่าชื้อบ้านและที่ดิน เพิ่มขึ้น 17.0%ต่อปี เพราะมีการใช้จ่ายซื้อที่พักอาศัยตามความต้องการโดยเฉพาะในต่างจังหวัด หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 7.8%ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการซื้อรถยนต์ตามมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก และมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อชดเชยที่เสียหายจากเหตุอุทกภัยในปลายปี 54 ประกอบกับการจูงใจจากการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และหนี้เพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้น 3.4% ต่อปี ส่วนหนึ่งจากแรงจูงใจของโครงการรับจำนำข้าวทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก

ในช่วงครึ่งหลังของปี 56 มีแนวโน้มการใช้จ่ายครัวเรือนลดลง ดังจะเห็นได้จากการข้อมูลด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนลดลง 2.9% ซึ่งทำให้ตลอดปีการใช้จ่ายภาคเอกชนลดลง 0.2% ในขณะที่ภาระหนี้สินมีแนวโน้มชะลอลง ชี้ให้เห็นจากยอดคงค้างการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี โดย ณ สิ้นปี 56 มีมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% ชะลอลงจาก 21.6% ณ สิ้นไตรมาส 4/55 โดยยอดคงค้างสินเชื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 13.1% การจัดหาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 12.6% และการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถ จักรยานยนต์ 8.4%

อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชาระหนี้เพิ่มขึ้น โดย ณ ไตรมาส 4/56 ยอดคงค้าง NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 26.6% สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชาระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้นสูง 45.8% หรือเป็นมูลค่า 10,920 ล้านบาท ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 31.3%

"สถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นสัดส่วนน้อยในภาพรวมของสินเชื่อ แต่เป็นเครื่องชี้ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง ทั้งนี้ แนวโน้มในปี 2557 ภาวะการก่อหนี้เพิ่มเติมและความสามารถในการชำระหนี้เดิมจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนและค่าจ้างของแรงงาน" สภาพัฒน์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ