นายกฯ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรใน 2 สัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 19, 2014 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมติดตามเกษตรโซนนิ่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าใน 3 ประเด็น คือ ปัญหาด้านภัยแล้งที่แม้ภาพรวมจะสามารถดูแลสถานการณ์ได้ แต่ยังมีปัญหาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ขณะนี้มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและจัดหาน้ำกินน้ำใช้ โดยให้ทางกระทรวงมหาดไทยประสานกับหน่วยงานในพื้นที่นั้นๆ เพื่อติดตามสถานการณ์ และแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมถึงเรื่องเกษตรโซนนิ่งที่ต้องปลูกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด ฤดูกาล และภูมิศาสตร์

นอกจากนี้ยังจะหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าด้านการเกษตร ที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ ทั้งนี้ผ่านมาเห็นว่ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรได้ดี

สำหรับสถานการณ์ผลการผลิตสินค้าเกษตร ที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน อาทิ ข้าวนาปรัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และผลไม้อื่นๆ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า เพื่อให้สามารถเตรียมการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับพืชผลที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปควรดำเนินการให้คณะกรรมการรายสินค้า 11 ชนิด พิจารณาข้อมูลสินค้าเกษตร อุปสงค์ อุปทาน พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ให้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฤดูกาลผลผลิตล้นตลาด นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ภายใน 2 สัปดาห์ และให้กระทรวงอุตสาหกรรม ประสานกับผู้ประกอบการโรงงานที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน รับซื้อผลผลิตไปแปรรูป ให้รองรับผลผลิตส่วนเกินของตลาดได้

ขณะเดียวกันจัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์จากยางพารา โดยเชิญกรมบัญชีกลางเข้าร่วมดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง

สำหรับความก้าวหน้าโซนนิ่งเกษตรนั้น ได้เน้นการบริหารจัดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ ให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร โดยที่ประชุมเสนอให้ดำเนินการขับเคลื่อน โดยเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และปรับปรุงข้อมูลความต้องการในการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมโดยให้สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้ประสานให้การบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นเอกภาพ และให้จัดทำโซนนิ่งเกษตรให้อยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยจะให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการ รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการดูแลในส่วนกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ