รายงาน กนง.มองการเมืองเพิ่มความเสี่ยงศก.แม้ส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 26, 2014 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2557 วันที่ 12 มีนาคม 2557 ซึ่งกนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี เนื่องจากเห็นพ้องกันว่าความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยอาจส่งผลต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และกระทบความเชื่อมั่นซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุนของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าๆ ตามเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ปรับดีขึ้น

และมองไปข้างหน้า ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง กนง.เห็นว่ามีประเด็นที่ควรติดตามดังนี้ สภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนที่อาจเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าวบ้างแล้ว อีกทั้งต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชน ในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำและไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

ขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่อาจต่ำกว่าเป้าหมายในปีนี้ และในระยะยาวการจัดเก็บรายได้ยังต่ำกว่าประเทศ ที่พัฒนาแล้วมาก ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน จึงมีความจำเป็นต้องประเมินผลกระทบในระยะยาวควบคู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วย

ในด้านการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม กนง.ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนภายใต้ภาวะที่สถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง และได้อภิปรายถึงความจำเป็นและประสิทธิผลในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น เมื่อเทียบกับต้นทุนต่อเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพราคา โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มแรงสนับสนุนให้กับเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ในภาวะที่แรงกดดันด้านราคาที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินในบางด้านที่ลดลงจากการชะลอตัวของสินเชื่อและภาวะตลาดการเงินโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

รายงานระบุว่า กรรมการ กนง.4 คนเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เนื่องจากเห็นว่า (1) นโยบายการเงินควรมีบทบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางปัญหาทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อ และแรงส่งทางเศรษฐกิจทั้งจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน ภาครัฐ และการส่งออกที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

(2) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แม้จะปรับสูงขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก แต่ยังอยู่ในระดับต่ำใกล้ค่ากลางของเป้า อีกทั้ง แรงกดดันจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีจำกัด เงินเฟ้อจึงไม่น่าจะเป็นความเสี่ยงสำคัญในขณะนี้ (3) ภาวะตลาดการเงินโลกที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นช่วยลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน และ (4) การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยลดภาระ ทางการเงินให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และสนับสนุนความพยายามของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าว

ส่วนกรรมการ 3 คนเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้น สร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเงินในภาวะที่ตลาดการเงินโลกกำลังปรับตัวต่อนโยบาย QE tapering ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลักและไม่ได้เกิดจากภาวะการเงินที่ตึงตัว การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจึงอาจมีประสิทธิผลจ่ากัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้รักษา Policy Space ไว้เพื่อใช้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และเมื่อสามารถมั่นใจได้ว่านโยบายการเงินจะแสดงศักยภาพเต็มที่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น ในรายงานยังระบุว่า กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวต่ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรงกว่าคาด แม้การส่งออกคาดว่าจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้จากเดิมที่ประมาณร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 2.7 ส่าหรับปี 58 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8

ด้านประมาณการอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนก๊าซหุงต้มไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป แต่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจ

ประเด็นหลักด้านเสถียรภาพทางการเงินที่มีการหารือในการประชุมครั้งนี้ คือความสามารถของภาคต่างๆ ในการรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยภาคธุรกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวและยังสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง สะท้อนจากฐานะทางการเงินที่โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดี ภาคครัวเรือนมีการสะสมความเปราะบางในช่วงก่อนหน้า จึงต้องติดตามผลกระทบต่อความสามารถในการช่าระหนี้ที่เริ่มด้อยลงบ้าง ซึ่งอาจมีผลต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ภาวะการเงินโดยรวมยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและต้นทุนการกู้ยืมที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ส่าหรับภาคการคลังยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านรายได้และการใช้จ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ