(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมก.พ. -4.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 28, 2014 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.พ.57 หดตัว 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 166.48 จากก.พ.56 ที่อยู่ที่ 174.17 ซึ่งเป็นดัชนีที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่เม.ย.

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตก.พ.57 อยู่ที่ 59.18% ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน จากการลดลงจากการผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง และผลของการบริโภคและการจำหน่ายในประเทศที่ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงรายได้ของประชาชน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม เช่น เครื่องปรับอากาศ น้ำตาล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม เช่น รถยนต์ ฮาร์ดดิสด์ไดรฟ์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น

โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เดือนก.พ.57 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากในช่วงกุมภาพันธ์ปีก่อน ผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นผลมาจากนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้มีฐานค่อนข้างสูง ประกอบกับมีความกังวลสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ การผลิตรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์คาดว่ามีจำนวน 171,000 คันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.39% และการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศของเดือนก.พ.57 คาดว่ามีจำนวน 71,699 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 44.16 %

ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตในเดือนก.พ.57 มีการปรับตัวลดลง 1.03% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลง 2.12 % โดยมาจากฮาร์ดิสก์ไดรฟ์ ปรับตัวลดลง 4.68% แต่เพิ่มขึ้นในกลุ่ม Monolitic IC, Semiconductor เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟนที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง และในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีรเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.56 % เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอื่นๆปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องรับโทรทัศน์ เนื่องมาจากภาคครัวเรือนในประเทศชะลอการใช้จ่าย ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรปที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.5% ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลง 6.0% เนื่องจากการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตในสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ประกอบกับสินค้าหลายชนิดได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ได้ลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและข่าวการแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยเดือนก.พ..57 มีปริมาณ 1.56 ล้านตัน ลดลง 3.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.64 ล้านตัน ลดลง 10.89% เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ และผลจากการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านที่ถูกระงับ ส่งผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งระยะยาวกระทบต่อเหลฌกก่อสร้างแน่นอน เพราะความต้องการใช้เหล็กลดลง

นายสมชาย ประมาณการจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 57 ขยายตัวช่วง 2.0-2.5 จากเป้าที่วางไว้ 3-4 % ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 57 ขยายตัว ช่วง 1.5-2.0 น่าจะสามารถทำได้ ภายใต้เงื่อนไขค่าเงินบาทประมาณ 32.17 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ 106.14 เหรียญ/บาร์เรล โดยเชื่อว่าปัจจัยทางการเมืองจะจบได้ก่อนครึ่งปี และสามารถเร่งการใช้จ่ายได้ในครึ่งปีหลัง

"เรามองปัญหาการเมืองในแง่ดีน่าจะจบก่อนครึ่งปี ก.ค.สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ผมมองว่าครึ่งปีความเคยชินและตลาดน่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ไม่ได้มองว่าการเมืองจะจบหรือไม่จบ...ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เราคาดหวังปลายไตรมาส 2 น่าจะเป็นบวกในเชิงเทคนิคอล เคยคุยกับผู้ประกอบการในเรื่องคำสั่งซื้อ ทุกคนเริ่มเข้าใจสถานการณ์การเมือง คำสั่งซื้อน่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 ถ้าไม่มีเหตุการณ์แทรกซ้อน"นายสมชาย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ