ธปท.เผยค่าเงินบาทแข็งค่าจากดอลล์อ่อนหลังเฟดยังไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 10, 2014 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 32.16 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงนี้ไม่ถือเป็นการผันผวนที่ผิดปกติ โดยเป็นผลมาจากรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมายืนยันว่ายังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ซึ่ง ธปท.ยังสามารถบริหารจัดการได้

ส่วนกรณีที่ทางการจีนประกาศตัวเลขส่งออกติดลบเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกันนั้น ยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาพรวมการส่งออกของจีนยังสามารถขยายตัวได้ ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โฆษก ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด แต่มั่นใจว่าเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงล่าสุดไตรมาส 4/56 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 168% และฐานะของธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง ไม่ได้เกิดปัญหาเสถียรภาพการเงินของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใดและมากพอที่จะรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

"นับจากต้นปี 57 เงินทุนประเภท portfolio ของนักลงทุนต่างชาติสุทธิยังเป็นการไหลออก ในส่วนของหุ้นในเดือนมี.ค.และเม.ย. (ถึงเมื่อวาน) เป็นการไหลเข้าสุทธิ ซึ่งทำให้ YTD (year-to-date) ติดลบน้อยลงเรื่อยๆ ในส่วนของพันธบัตรมีการไหลเข้าสุทธิบ้าง ไหลออกสุทธิบ้าง เป็นช่วงๆ โดยสรุป YTD ทั้งหุ้นและพันธบัตรติดลบอย่างละไม่มากแล้ว"นางรุ่ง กล่าว

ส่วนกรณีการคัดลอกข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม (Skimming) โฆษกธปท. กล่าวว่า ขณะนี้ลูกค้าของธนาคารยังคงสามารถใช้บริการบัตรชนิดแถบแม่เหล็กได้จนกว่าธนาคารจะแจ้งวันหมดอายุการใช้งานและเปลี่ยนเป็นบัตรชิพการ์ดต่อไป ซึ่งตามกำหนดของแผนระบบการชำระเงินนั้น ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องเปลี่ยนไปใช้ตู้เอทีเอ็มระบบไมโครชิพที่รองรับบัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบชิพการ์ดทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 58

และภายในปี 59 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องเปลี่ยนมาใช้บัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระบบชิพการ์ด แทนบัตรชนิดแถบแม่เหล็กที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมดเช่นกัน เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลบัตรด้วยเครื่องคัดลอกข้อมูล (Skimming) ในระดับหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ