กมธ.ตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภาเปิดผลศึกษาพบปรับราคาLPGครัวเรือนไม่เป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 25, 2014 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้นำเสนอรายผลงานการศึกษาเรื่อง "การปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน" ในระหว่างการเสวนา เรื่อง "ธรรมาภิบาลปิโตรเลียมไทย:ทำไมต้องยกเลิกสัมปทาน" โดยได้มีผลสรุปถึงความไม่เป็นธรรมใน 5 ด้านพร้อมมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ความไม่เป็นธรรมของระบบสัมปทานปิโตรเลียมกับประชาชนเจ้าของทรัพยากร น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากประเทศไทย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของชาติเป็นของประชาชนทุกคน และเป็นต้นทุนสำคัญของราคาก๊าซแอลพีจีที่จำหน่ายในประเทศไทย ควรจะมีราคาต้นทุนที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514

หลักกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่เคยเป็นของรัฐและของประชาชนต้องสิ้นสุดไปทันทีเมื่อได้มีการให้สัมปทานไป เมื่อรัฐบาลหรือประชาชนต้องการจะใช้ปิโตรเลียมซึ่งตนเคยเป็นเจ้าของ จะต้องจ่ายเงินซื้อก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากผู้รับสัมปทานทั้งหมดภายใต้เงื่อนไขของราคาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายปิโตรเลียมกำหนดไว้ทั้งในและนอกราชอาณาจักร

2.ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศ การขยายตัวของปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีของภาคปิโตรเคมี ส่งผลให้เกิดปัญหาแอลพีจีไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ของผู้ใช้กลุ่มอื่น นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้ ปตท.นำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา และให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันไปจ่ายชดเชยราคาส่วนต่างให้กับ ปตท. นับตั้งแต่ปี 2551-2555 มีภาระการชดเชยรวม 120,590ล้านบาท ภาระดังกล่าวนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของภาคปิโตรเคมีมาตั้งแต่ต้น แต่รัฐบาลก็ไม่มีนโยบายที่เป็นธรรมในส่วนนี้

3.ความไม่เป็นธรรมในการกำหนดราคาและการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ต้นทุนแอลพีจีที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมา มีความไม่เป็นธรรมในหลายประการ อาทิ มีต้นทุนที่ซ้ำซ้อนปรากฏในรูปของค่าตอบแทนในการจัดหาก๊าซธรรมชาติซึ่งไม่ควรจะมี เพราะ ปตท.ถูกกำหนดให้เป็นผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยแต่เพียงผู้เดียว โดยผ่านระบบท่อก๊าซที่ ปตท.ถือครองอยู่ อีกทั้งต้นทุนหลายๆ ส่วนก็ไม่ควรจะถูกมารวมคิดเป็นต้นทุนใหม่ อาทิ ต้นทุนโรงแยกก๊าซและ ต้นทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่สร้างก่อนการแปรรูป ปตท.ซึ่งได้ดำเนินการมานานและน่าจะถึงจุดคุ้มทุนแล้ว

4.ความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในอำนาจหน้าที่ของข้าราชการ ราคาก๊าซแอลพีจีและอัตราเรียกเก็บและจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ต่อได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 เมื่อปี 2550 ทำให้ข้าราชการสามารถเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทธุรกิจพลังงานที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นอยู่ได้ ส่งผลให้ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายปรับขึ้นราคาแอลพีจี การเรียกเก็บและใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน สามารถเข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือได้ โดยได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก

5.ความไม่เป็นธรรมในการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะระบบข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ไม่อยู่ในลักษณะที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เช่น ไม่มีราคาปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานขุดเจาะขายให้กับโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมันเมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลกให้สาธารณชนรับทราบ ไม่มีข้อมูลว่าราคาแอลพีจีรวมทั้งราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศกับราคานำเข้ามีความแตกต่างกันเท่าใด ไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ที่สำคัญไม่มีการนำเสนอต้นทุนหรือผลประกอบการของโรงแยกก๊าซเป็นการเฉพาะเพื่อที่จะให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ว่า โรงแยกก๊าซมีผลประกอบการที่ขาดทุนจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่

ทั้งนี้ คณะกมธ.มีข้อเสนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย 1.ให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี และให้ยกเลิกนโยบายการจัดสรรก๊าซแอลพีจีให้ปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรก โดยให้รัฐบาลมีนโยบายให้แอลพีจีที่ผลิตได้จากทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ด้วยราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิตมิใช่ไปอิงราคาตลาดโลก เมื่อเหลือจึงให้ภาคอื่นใช้หากไม่พอให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเอง

2.ให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นการจัดเก็บเงินจากประชาชน และใช้จ่ายเงินโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของระบบรัฐสภา มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และทำให้โครงสร้างน้ำมันสำเร็จรูปไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง ดังนั้นจะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ มีราคาลดลง เช่น เบนซิน 95 ลดลง 10 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 3.30 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.20 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมัน E20 และ E85 เมื่อไม่มีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายอุดหนุนแล้ว รัฐบาลจะต้องตรวจสอบราคาจำหน่ายที่หน้าโรงกลั่นและค่าการตลาดที่สูงเกินจริง ไม่ให้เกิดการค้ากำไรเกินควรกับผู้บริโภค

3.ให้มีมาตรการเพื่อยุติการผูกขาดของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ที่มีอำนาจผูกขาดในกิจการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยให้ดำเนินการนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลออกจากปตท. ให้จัดตั้งวิสาหกิจใหม่ขึ้นเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้เป็นของรัฐทั้งหมดและห้ามมิให้มีการแปรรูปเป็นเอกชน และให้แก้ไขกฎหมายห้ามมิให้ข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการพลังงานดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องจนกว่าจะเกษียณอายุแล้ว 2 ปี เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ