CIMBT คาด GDP ปี 57 โต 1.5% ก่อนฟื้นบวก 3% ปีหน้า แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 20, 2014 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) คาดว่าเศรษฐกิจในปี 57 จะเติบโตราว 1.5% ก่อนจะดีดตัวบวกเป็น 3% ในปี 58 แต่ยังเป็นการเติบโตที่ช้า และต่ำกว่าศักยภาพที่ไทยเคยทำไว้ในอดีต โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้งจากปัจจัยภาครัฐจะเป็นตัวเสริมเมื่อมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

“แม้เศรษฐกิจจะโตช้า แต่จะไม่เข้าขั้นวิกฤติ หากปัญหาการเมืองได้รับการแก้ไขโดยเร็ว และได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ แม้ปัญหาการเมือง เป็นปัญหาชั่วคราว แต่หากยืดเยื้อจะกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับปัญหาการเมืองไทย"นายอมรเทพ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากปัญหาในประเทศสงบ เศรษฐกิจอาจไม่มีกำลังพอที่จะเร่งตัวได้แรง เพราะปัญหาขยายวงกว้างขึ้น ไม่เพียงด้านความเชื่อมั่น แต่ลงลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน โครงสร้างสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกลดลง ซึ่งเดิมคาดว่าปัญหาการเมืองจะยุติช่วงกลางปีและจะมีรัฐบาลใหม่ในไตรมาส 3/57 ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวที่ดีต่อภาคบริการช่วงครึ่งหลังของปี แต่ขณะนี้ปัญหายืดเยื้อออกไป

นายอมรเทพ กล่าวต่อว่า เมื่อภาคอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ และภาคการส่งออกขยายตัวได้ไม่มาก จากเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา การลงทุนการค้าและการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเป็นโอกาสและทางรอดสำหรับนักลงทุนไทยในการรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาด รวมทั้งแรงงานที่สำคัญ อีกทั้งอาศัยการเติบโตของตลาดคนชั้นกลางเพื่อขายสินค้าประเภท HDD/Consumer electronics ที่เดิมไทยผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงมานั้น สำนักวิจัยฯ ได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 1.50% ในปี 57 จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่การส่งออกแม้เติบโตได้ แต่ก็ไม่อาจเร่งตัวได้แรง ส่วนการนำเข้าโตเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้การส่งออกสุทธิเร่งตัว ซึ่งภาคต่างประเทศที่เติบโตได้เช่นนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นเพียงการเติบโตทางเทคนิคเท่านั้น

ด้านอัตราดอกเบี้ย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00% ตลอดทั้งปี แม้เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากราคาอาหาร และจากเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่า และคาดว่าดอกเบี้ยจะขยับขึ้นได้ในปีหน้าหลังมีแรงกดดันจากเงินไหลออก ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

สำหรับทิศทางค่าเงินบาท จากภาวะเงินทุนไหลออกที่จะเร่งตัวขึ้น ค่าเงินบาทจึงมีทิศทางอ่อนค่าลงได้ โดยสำนักวิจัยฯ คาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะระดับ 33.00 บาท/เหรียญสหรัฐฯในช่วงปลายเดือน มิ.ย.โดยจะอ่อนค่ามากขึ้นในช่วงปลายปีหากมีการเปลี่ยนมุมมองต่อความเชื่อมั่นในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ