(เพิ่มเติม) สำนักงบฯ เผยสรุปงบ'ปี 58 ไม่เกินที่เสนอไว้ ขาดดุลใกล้เคียงปีก่อน-งบลงทุน 17.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 30, 2014 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 58 ในวันนี้คาดว่าจะเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายไม่เกินจากที่สำนักงบประมาณเสนอไว้ ซึ่งจะเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 57 และกำหนดสัดส่วนงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 17.5% โดยเป็นการจัดทำงบประมาณภายใต้คาดการณ์ nominal GDP ที่ 6.3% อัตราเงินเฟ้อที่ 2.3% อีกทั้งยังเห็นพ้องให้คงเป้าหมายจัดทำงบสมดุลในปีงบประมาณ 60

"จะเน้นรายจ่ายลงทุนเป็นหลักเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 58 ที่ 6.3% (nominal GDP)"ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวภายหลังหารือร่วมกันของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงบประมาณจะนำผลสรุปเรื่องกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 และโครงสร้างงบประมาณไปรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้

“ตัวเลขงบประมาณปี 58 จะเพิ่มจากปี 57 พอสมควร ตัวเลขที่ยุติแล้วจะไม่เกินตัวเลขที่สำนักงบประมาณเสนอที่ 2.6 ล้านล้านบาท ขาดดุลใกล้เคียงกับปีที่แล้ว งบรายจ่ายลงทุนเท่าเดิมร้อยละ 17.5 แต่ตัวเลขที่ชัดเจนต้องขอเสนอต่อ คสช.ก่อน" ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ การจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 มิ.ย. และนำเสนอต่อ คสช.ในวันที่ 15 ก.ค.57 หลังจากนั้น สำนักงบประมาณจะกลับมาจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายในวันที่ 29 ก.ค. ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการออกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 ของฝ่ายนิติบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สำนักงบประมาณจะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองการจัดสรรงบประมาณให้เกิดความรอบคอบ โดยเชื่อว่าพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 จะมีผลบังคับใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.57 อย่างแน่นอน

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งนั้น เป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมที่ต้องไปหารือในรายละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นเชื่อว่าจะมีการดำเนินการในโครงการที่มีความพร้อมและมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน เช่น การก่อสร้างรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และโครงการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่จำเป็นและมีความเร่งด่วนก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ