ธ.ก.ส.ปิดบัญชีหนี้ค้างจำนำข้าวปี 56/57 กว่า 9 หมื่นลบ. คาดดัน GDP 0.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 17, 2014 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ร่วมปิดโครงการการจ่ายเงินรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ที่ค้างชาวนากว่า 800,000 ราย วงเงินกว่า 90,000 ล้านบาท โดยจ่ายเงินตามมูลค่าใบประทวนเข้าบัญชีให้กับเกษตรกรโดยตรงครบถ้วนทั้งประเทศ

จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ให้กับชาวนาที่อยู่ระหว่างรอรับเงินอีกกว่า 800,000 ราย วงเงิน 92,431 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 นั้น ธ.ก.ส.สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรตามคิวใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วตามลำดับก่อนหลังอย่างเคร่งครัดโปร่งใสไปแล้ว 838,538 ราย จำนวนเงิน 89,931 ล้านบาท โดยจ่ายเงินได้เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 22 มิถุนายน 2557 และถือเป็นการปิดบัญชีหนี้จำนำที่ค้างไว้กับชาวนาทั้งหมด

การดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ซึ่งมียอดใบประทวนรวมทั้งโครงการจำนวน 1,671,720 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 11.88 ล้านตัน คิดเป็นจำนวนเงิน 195,450 ล้านบาท (ตัวเลขดังกล่าวรวมยอดประมาณการข้าวเปลือกที่จะเข้าร่วมโครงการในภาคใต้ ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 กรกฎาคม 255 ) สามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไปแล้วจำนวน 1,612,380 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 10.97 ล้านตัน จำนวนเงิน 184,957 ล้านบาท จากยอดจัดสรรทั้งหมด 195,394 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณและเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 164,894 ล้านบาท เงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา 10,500 ล้านบาท และงบกลางอีก 20,000 ล้านบาท

"การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่มีหลักฐานและเอกสารครบถ้วนไปแล้วทั้งหมด ยังเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการนำข้าวมาเข้าโครงการ และเกษตรกรบางส่วนที่อาจติดปัญหา เช่นใบประทวนสูญหาย หรืออื่นๆ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะเร่งประสานส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป" นายลักษณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในการเบิกจ่ายเงินสดของชาวนาที่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีไปแล้ว ธ.ก.ส.ได้ขอความร่วมมือในการทยอยมาเบิกรับเงินหากไม่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาความคับคั่งของเกษตรกรที่มาติดต่อยังสาขา เพราะระบบรองรับการบริการฝากถอนมีข้อจำกัด อาจเกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้า

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เม็ดเงินที่ลงไปถึงมือชาวนาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยทั้งการ บริโภคภายในครัวเรือน การชำระหนี้สินต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน โดยคาดว่า GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.2


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ