นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.43/46 บาท/ดอลลาร์ ขยับแข็งค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดช่วงเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 32.45/46 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค หลังตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของจีนที่ออกมาค่อนข้างดี
"เงินบาทขยับแข็งค่าตามภูมิภาค คิดว่าวันนี้ยังไม่ไปไกล น่าจะแกว่งตัวในกรอบ 32.40-32.50(บาท/ดอลลาร์)" นักบริหารเงิน กล่าว
สัปดาห์นี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทโดยตรง ส่วนทิศทางการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศน่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศยูเครนและอิรักส่งผลต่อราคาทองคำและน้ำมัน
นักบริหารเงิน คาดวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.40-32.50 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.00 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 102.02 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3594 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.3597 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 32.4670 บาท/ดอลลาร์
- นิด้าโพลเผยผลสำรวจ "คสช. ควรเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี" พบส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 41 ชี้ "พล.อ.ประยุทธ์" เหมาะที่สุด รองลงมาคือ "อานันท์-สุรินทร์-ปรีดิยาธรสมคิด" ร้อยละ 3.10 ระบุว่า เป็นใครก็ได้ ที่ซื่อสัตย์ สุจริต แก้ปัญหาได้ สวนดุสิตโพลชี้ ประชาชนเทคะแนนให้ผลงาน 1 เดือน คสช. เพราะบรรยากาศบ้านเมืองดีขึ้น สงบสุข ไม่วุ่นวาย
- ถกแผนปฏิรูปพลังงานรอบ 2 ได้ข้อมูลเพียงพอเตรียมจัดทำดราฟต์ปฏิรูปเสร็จในสิ้นเดือนนี้ใช้ระยะเวลาปฏิรูป 3-6 เดือน โดยเรื่องเร่งด่วนสุดคือ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ ที่เหลือทยอยตามมา นัดถกดีเซลกับ กบง.วันนี้
- รองโฆษก คสช.แจงสหรัฐฯ ลดชั้นปัญหาค้ามนุษย์เพราะใช้เกณฑ์ใหม่ "พาณิชย์" เร่งทำความเข้าใจภาครัฐและเอกชนในสหรัฐฯ ยันสิทธิ์ GSP ไม่กระทบ เหตุสหรัฐฯ จะไม่ตัดสิทธิด้านการค้า ภาคเอกชนเตรียมประชุมรับมือ ด้าน ก.แรงงานจ่อลดค่าใช้จ่ายแรงงานต่างด้าว มาทำงานในไทย
- กฟผ.คาดหวังว่าเอกชนภาคใต้จะหันมาลดใช้ไฟ 160 เมกะวัตต์ ช่วงแหล่งก๊าซฯ JDA หยุดจ่าย หลัง กกพ.เคาะเงื่อนไขจ่ายชดเชย ให้ 4 บาทต่อหน่วย จับตาการใช้ไฟสัปดาห์หน้า ที่คาดว่าจะสูงขึ้นเหตุเข้าสู่ฤดูร้อนภาคใต้
- เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นแตะ 50.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน จาก 49.4 ในเดือน พ.ค.
- สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงดีดตัวขึ้น 62 ดอลลาร์ฮ่องกง เปิดที่ระดับ 12,180 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,317.54 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 6.71 ดอลลาร์สหรัฐ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงปิดบวกเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ประกาศเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินด้วยการส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายของเฟด
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากสถานการณ์รุนแรงในอิรักยังคงเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ตลาดทองคำยังได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX(Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 2.5 ดอลลาร์ หรือ 0.19% ปิดที่ 1,316.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 30.1 เซนต์ ปิดที่ 20.949 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน ก.ค.ร่วงลง 17.2 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,457.3 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน ก.ย.ร่วงลง 16.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 822.20 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ หลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐประกาศว่า สหรัฐเตรียมตัวส่งที่ปรึกษาด้านการทหารมากกว่า 300 คนไปยังประเทศอิรักซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่มโอเปค ขณะที่สถานการณ์ในอิรักยังคงทวีความรุนแรงในขณะนี้ โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 83 เซนต์ ปิดที่ 107.26 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน ส.ค.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 25 เซนต์ ปิดที่ 114.81 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ เพราะได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีก หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 102.13 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 101.94 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8957 ฟรังค์ จากระดับ 0.8942 ฟรังค์ แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.0756 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.0823 ดอลลาร์แคนาดา ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3593 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3608 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.7011 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.7042 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.9385 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9403 ดอลลาร์สหรัฐ