เงินบาทปิดตลาด 32.22/23 ระหว่างผันผวน ก่อนปรับตัวอ่อนค่าต่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 6, 2014 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.22/23 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากช่วงเช้าที่ระดับ 32.19/21 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 32.13 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามทิศทางของเงินทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและค่าเงินดอลลาร์
"วันนี้เงินบาทผันผวนมาก หลังเปิดตลาดอ่อนค่าไปอยู่ที่ 32.23(บาท/ดอลลาร์) ก่อนจะลงไปทำโลว์ที่ 32.13(บาท/ดอลลาร์) แล้วอ่อนค่าช่วงท้ายตลาด" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมาจากทิศทางของเงินทุนต่างประเทศและเงินดอลลาร์ ส่วนผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปีไม่ส่งผลอะไร

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.20-32.30 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.40 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 102.56 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3360 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3364 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,522.41 จุด ลดลง 6.57 จุด, -0.43% มูลค่าการซื้อขาย 49,916.70 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,057.48 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เผยที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยไม่กระทบต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในการปฏิรูปเพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
  • นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โจทย์เร่งด่วนสำหรับเศรษฐกิจการคลังของไทยในขณะนี้คือ การปิดช่องโหว่ในการที่จะให้ภาคการเมืองเข้าไปมีโอกาสใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพื่อมาใช้ในโครงการประชานิยมต่างๆ เพราะสิ่งนี้จะก่อให้เกิดการขาดวินัยทางการคลัง
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย.ปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน โดยดัชนีพ้องเศรษฐกิจ(index of coincident indicators) เช่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, ยอดค้าปลีก และการจ้างงานใหม่ ลดลง 1.8 จุด มาอยู่ที่ 109.4 เมื่อเทียบกับฐาน 100 ในปี 2553 ส่วนดัชนีนำเศรษฐกิจ(index of leading indicators) ซึ่งคาดการณ์สถานการณ์ในอีกหลายเดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้น 0.7 จุด แตะที่ 105.5 และดัชนีตามเศรษฐกิจ (index of lagging indicators) ซึ่งเป็นมาตรวัดการปรับตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อ่อนแรงลง 0.9 จุด สู่ระดับ 116.9
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดทรงตัวในวันนี้ ขณะที่คำสั่งขายจากความระมัดระวังเกี่ยวกับราคาพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้สกัดแรงซื้อหลังตลาดหุ้นโตเกียวอ่อนแรงลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 334 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.515% ทรงตัวจากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ก.ย.ปรับตัวลง 0.03 จุด แตะที่ 146.03 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า
  • กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี เผยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของเยอรมนีในเดือน มิ.ย.ปรับตัวลง 3.2% จากเดือน พ.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% และเป็นตัวเลขที่ร่วงลงหนักสุดในรอบเกือบ 3 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ