ธปท.คาดการบริโภคภาคเอกชนช่วง H2/57 ฟื้นตัว แม้รายเดือนยังชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 8, 2014 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 57 จะเติบโตต่อไปได้ดี แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตในระดับต่ำ และตัวเลจรายเดือนยังชะลอตัว

จาก 2 ปัจจัย คือ การบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีแรก 56 มีฐานสูงจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โครงการรถคันแรก ทำให้เทียบกับครึ่งปีแรกของปีนี้หดตัวลงมาก แต่ครึ่งหลังของปี 56 ไม่ได้มีฐานสูงมากแล้ว และ ขณะนี้แม้สินค้าคงทน เช่น รถยนต์จะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ แต่สินค้าไม่คงทนอื่นๆ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องแล้ว สอดคล้องกับสัญญาณอื่น เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินขณะนี้ยังไม่ประสบปัญหาตึงตัว และยังไม่น่าเป็นห่วง แม้สัดส่วนสินเชื่อต่อยอดเงินฝากจะปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดเดือน มิ.ย.57 อยู่ที่ 98.3% เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่ 96.6% สาเหตุสำคัญมาจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินฝากไปยังผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น กองทุนรวม หรือการซื้อประกันต่างๆ เป็นต้น

โฆษก ธปท. กล่าวว่า จากการติดตามของ ธปท.พบว่าธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อ โดยยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนดที่ 6% ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่แต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งสามารถแปลงสินทรัพย์ดังกล่าวมาเป็นเงินสดเพื่อใช้ปล่อยกู้ได้ตามความจำเป็น เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ การแข่งขันระดมเงินฝากยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ เห็นได้จากการแข่งขันไม่ได้เพิ่มมากนักเมื่อเทียบกับช่วงปี 56 ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ควบคุมการปล่อยสินเชื่อในบางกลุ่มมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนยังไม่ชัดเจน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ไม่ได้เร่งตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบายคืนภาษีรถคันแรก

ทั้งนี้ ปัญหาสภาพคล่องไม่น่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลไกเรื่องสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็เริ่มกลับเข้าสู่พันธกิจมากขึ้น และไม่มีการใช้นโยบายประชานิยมในระยะนี้ ทำให้การขยายตัวสินเชื่อไม่สูงมาก

“สภาพคล่องในระบบยังคงมีเพียงพอ และไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะตึงตัวในเร็วๆนี้ โดยล่าสุด (7ส.ค.) ธปท.ได้ดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินแล้วจำนวน 4.55 ล้านล้านบาท สัดส่วนดังกล่าวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา"โฆษก ธปท. กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ