รมว.พลังงาน เตรียมปรับราคาพลังงานทุกประเภทใน ธ.ค.นี้ตามโครงสร้างใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2014 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะนำเสนอกรอบโครงสร้างราคาพลังงานทุกประเภทให้แก่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ย.นี้ รวมทั้งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จากนั้นคาดว่าในเดือน ธ.ค.นี้ คณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะสามารถทยอยปรับราคาพลังงานทุกประแภท ได้แก่ เบนซิน แก๊สโซฮออล์ ดีเซล NGV LPG ทั้งนี้คาดใช้เวลาปรับขึ้นให้สะท้อนตามราคาต้นทุนจริงประมาณ 1 ปี

การปรับขึ้นราคาพลังงานใหม่จะกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดยกลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์คือผู้ใช้เบนซิน และ แก๊สโซฮออล์ ส่วนดีเซลจะอาจปรับขึ้นบ้างแต่ไม่มาก และก๊าซ NGV และ LPG ใช้ในการขนส่งและครัวเรือนก็ปรับเพิ่มขึ้น

"ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานครั้งหน้า จะพิจารณาปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ โดยหลักการของอย่างเดียวกันราคาต้องใกล้กัน การเสียภาษีสรรพสามิตของอย่างเดียวกันก็ต้องใกล้กัน ถ้าจะเก็บเงินกองทุนจากใคร ก็ใช้หลักการเดียวกัน โดยยืนยันใช้แนวทางนี้" นายณรงค์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ น้ำมันดีเซล จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเสียภาษีลิตรละ 3 บาทกว่า ขณะเดียวกันก็จะลดการนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะขณะนี้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่า

ส่วนราคาขายก๊าซปัจจุบันต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยราคาหน้าโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 330 เหรียญ/ตัน ซึ่งใช้ราคานี้มานานเกือบ 10 ปี ขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ที่กว่า 600 เหรียญ/ตัน แม้ว่าไทยจะใช้ก๊าซจากอ่าวไทยสัดส่วน 80% แต่แนวโน้มก๊าซจะลดลง และจะมาจากพม่า และ LNG ที่นำเข้ามากขึ้น จะทำให้ราคาก๊าซ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคา LNG มีแนวโน้มราคาลดลงซึ่งช่วยได้ เพราะต่อไปมีการเปลี่ยนแปลงพลังงานในตลาดโลก

"แนวทางต่อไปคือ LPG ซึ่งจะค่อยๆทำ โชคดีเงินกองทุนเป็นบวกแล้ว ราคาพลังงานในตลาดโลกไม่สูง เราก็สามารถค่อยๆปรับขึ้นได้ เมื่อกองทุนเป็นบวกอาจเก็บเงินเข้ากองทุนน้อยลง ก็เบนซิน แก๊สโซฮออล์ ก็ปรับลดลง ส่วนภาษีดีเซลก็ต้องปรับขึ้น ซึ่งปัจุบันเก็บ 3 บาทกว่าแล้ว ซึ่งถ้าลดการเก็บเงินกองทุนแต่เพิ่มภาษี สุดท้ายก็ไม่ได้เปลี่ยนมาก ซึ่งจะกระทบต่อผู้ใช้น้อยสุด ส่วนผลกระทบผู้ใช้น้ำมันและก๊าซขนส่ง ไม่มาก แต่ก๊าซครัวเรือนอาจจปรับขึ้นบ้าง แต่สุทธิอาจจะไม่มาก รัฐบาลมีเวลาปีหนึ่งก็จะทำให้เสร็จเรียบร้อย"รมว.พลังงาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไทยจะต้องลงทุนท่อน้ำมันและท่อก๊าซ ซึ่งจะมีการวางกรอบการลงทุนดังกล่าว เพราะแนวโน้มอัตราการใช้ก๊าซเติบโตขึ้น

"ประเทศไทยเป็นทาสของก๊าซ จากการเอาใจประชาชนแบบสุดซอย ทำให้เรามาแก้ปัญหา ประชาชนอาจจะลำบาก ขณะที่ Infrastructure ไม่พร้อม ท่อเราก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ต้องสร้างท่อ ตอนนี้ไม่มีท่อ จึงควรชะลอการใช้ก๊าซ โดยเฉพาะในภาคอีสาน เรื่องท่อเป็นเรื่องใหญ่ ภายในปีหนึ่ง เราจะออกกรอบด้านท่อน้ำม้นและท่อก๊าซ จะต้องสร้างท่อเพราะถ้ายังต้องใช้ก๊าซ แต่ใครจะลงทุนไว้ว่าทีหลัง" นายณรงค์ชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ