รมว.คมนาคม เล็งชงโครงการไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-หนองคาย เข้า ครม. 18 พ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 13, 2014 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า วันอังคารหน้า(18 พ.ย.) กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟขนาดรางมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 867 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท
"จะเสนอ ครม.ขออนุมัติในหลักการอังคารที่จะถึงนี้ ถ้าไม่ทันก็ไม่เกินอังคารถัดไป คมนาคมจะคุยกันเรื่องสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อยุทธศาสตร์ของจีนบนเส้นทางสายไหมและเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มอาเซียนเจอกันที่เวียงจันทร์-หนองคาย เราจะลงทุนเส้นนี้ในลักษณะ G to G โดยจะไม่มีการนำเรื่องสินค้าเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการเอง" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

หลังจาก ครม.อนุมัติแล้วจะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อดูข้อกฎหมายก่อนเพื่อเตรียมร่างสัญญาร่วมลงทุนกับจีน และคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือน ธ.ค.นี้ที่ประเทศจีน จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อลงรายะเอียดโครงการทั้งสำรวจออกแบบ และประเมินราคา โดยคณะทำงานจะมีตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม ตัวแทนจากจีน และตัวแทนนักวิชาการไทย เริ่มได้ในเดือน ม.ค.58

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นลักษณะ G to G และร่วมลงทุนกันอาจจะเป็นสัดส่วน 80% ของจีน และ 20% ของไทย หรือสัดส่วน 85/15 หรือให้จีนลงทุนทั้ง 100% โดยมีรูปแบบการลงทุนไว้ 3 แบบ ได้แก่ รูปแบบ PPP, BOT ให้เอกชนสร้างและรับสัมปทานไปบริหาร และรูปแบบ ECP&F ที่ให้เอกชนลงทุนและสร้าง ส่วนภาครัฐเข้ามาบริหารและใช้หนี้ระยะยาว ซึ่งแนวโน้มเป็นแนวทางนี้ ทั้งนี้เอกชนฝ่ายไทยจะเข้ามาดำเนินการในนามรัฐบาลไทย

ก่อนหน้านี้ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 53 และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 56 ได้มีกรอบความร่วมมือการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกับจีนไว้แล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเสนอให้เป็นทางเลือกกับ ครม.ว่าจะใช้กรอบเดิมหรือใช้บางส่วน หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือยกเลิกกรอบความร่วมมือเดิมและใช้กรอบความร่วมมือใหม่ของรัฐบาลนี้ ซึ่งแนวโน้มจะเป็นแนวทางหลัง

สำหรับโครงการพัฒนารถไฟฟ้าขนาดรางมาตรฐานเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย เป็นเส้นทางที่สอดคล้องกับเส้นทางสายไหมของจีนที่จะบรรจบกันที่เวียงจันทร์และหนองคาย และไทยจะเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้จะแบ่งงานก่อสร้างเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

รมว.คมนาคม ยังกล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังจากที่นายกรัฐมนตรีจะไปเยือนญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ทางญี่ปุ่นให้ความสนใจที่ให้วงเงินกู้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานของไทย ขณะที่เกาหลีได้แสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ