พาณิชย์ เผยผลสำรวจพบไทยความสามารถการแข่งขันลดลง แนะทุกภาคส่วนเร่งพัฒนา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2014 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนย.) เกี่ยวกับประเทศที่เป็นพลังขับเคลื่อนการนำเข้า(World import growth engine) ที่ถือว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญของโลก โดยวิเคราะห์จากสัดส่วนในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของการนำเข้ารวมของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(2545-2555) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตลาดส่งออกศักยภาพของไทยในอนาคต พบว่าประเทศที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก 10 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และรัสเซีย รวมทั้งยังมีประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบันที่จะกลายเป็นประเทศพลังขับเคลื่อน GDP และการนำเข้าของโลกที่สำคัญในอนาคต คือกลุ่มประเทศ Next 11 ได้แก่ บังกลาเทศ อียิปต์ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ตุรกี เวียดนาม อิหร่าน เม็กซิโก และเกาหลีใต้ ซึ่ง Goldman Sachs คาดการณ์ว่ากลุ่ม Next 11 จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับกลุ่มประเทศ G7 ในอีก 15 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังพบว่าไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในหลายตลาดที่เป็นพลังขับเคลื่อนการนำเข้าโลกข้างต้น โดยค่าความสัมพันธ์(regression coefficient) ระหว่างอัตราการขยายตัวของ GDP ของประเทศคู่ค้าของไทยกับอัตราการขยายตัวของการนำเข้าจากไทยของประเทศคู่ค้าเหล่านั้น มีค่าลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จีน มีค่าลดลงจาก 2.8 ในช่วงปี 2545 มาอยู่ที่ 2.1 ในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจของจีนขยายตัว แต่ไทยกลับส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราการขยายตัวที่น้อยลงกว่าในอดีต โดยสาเหตุน่าจะเกิดจากการที่ไทยส่งออกสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด สินค้าไทยมีมูลค่าเพิ่มต่ำ เผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาด หรือช่องทางในการเข้าตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการส่งออกของไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพิงทั้งตลาดดั้งเดิม อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และต้องรุกเข้าตลาดเกิดใหม่ในอนาคต เช่น กลุ่มประเทศ BRIC และกลุ่ม Next 11 ซึ่งในภาวะที่การส่งออกเป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการเร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยอย่างจริงจัง จำเป็นต้องศึกษา ติดตามข้อมูล วิเคราะห์ความต้องการของตลาด และกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ