นักวิชาการประเมินปี 58 ลงทุน-ส่งออก-ท่องเที่ยว ดันเศรษฐกิจไทยโต 4-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 27, 2014 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/57 จะกระเตื้องขึ้น โดยขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5% ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ แม้ฤดูท่องเที่ยวปลายปีคงไม่คึกคักจากกฎอัยการศึก แต่คงดีกว่าปลายปีที่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะฟื้นตัวเติบโตแข็งแกร่งที่ระดับ 4-5% โดยมีกรณีพื้นฐานอยู่ที่ 4.5%

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ในไตรมาส 2/58 ผลจากการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเดินหน้า การลงทุนเอกชนเริ่มขยายตัวเป็นบวกหลังจากติดลบสองปีต่อเนื่องกัน ขณะที่การบริโภคขยายตัวเพียงเล็กน้อยจากหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 65% ซึ่งยังไม่ได้เป็นระดับที่จะมีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมจำนวนมาก

ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานและการดีดขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลัง การอ่อนตัวของเงินเยนและความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น รวมทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองหากไม่มีการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา

"คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 58 จะอยู่ที่ระดับ 4-5% มีกรณีพื้นฐานอยู่ที่ 4.5% โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวภาคการลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 5-5.8% อัตราการเติบโตของภาคการบริโภคจะอยู่ที่ 3-3.2% ดุลการค้าจะเกินดุล 23-24 พันล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.5-9.5 พันล้านดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกเติบโตได้ประมาณ 5-6% อัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าอยู่ที่ระดับ 4-5%" นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะมีภาคการลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ภาครัฐมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายการลงทุนให้ได้ 87% จากงบประมาณที่ตั้งไว้ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณปี พ.ศ.2557 มีการเบิกจ่ายงบลงทุนเพียงแค่ 65% (ผลจากวิกฤตการณ์การเมือง) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทำต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ.2558 ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท โครงการลงทุนของต่างชาติเพื่อใช้ประเทศเป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนการท่องเที่ยวพร้อมที่จะฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพหากมีการยกเลิกกฎอัยการศึก

ขณะที่คาดการณ์ว่าหากเศรษฐกิจไทยขยายตัวในช่วงระหว่าง 4-5% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1/58 จะอยู่ที่ 2.2-2.7% ไตรมาส 2/58 อยู่ที่ 6.2-8.0% ไตรมาส 3/58 อยู่ที่ 7.5-8.5% ไตรมาส 4/58 อยู่ที่ 0.2-1% โดยที่กรณีพื้นฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เศรษฐกิจทั้งปีจะเติบโตได้ที่ 4.5% โดยไตรมาสแรกเติบโต 2.2% ไตรมาสสองเติบโต 7.2% ไตรมาสสามเติบโต 8.5% ไตรมาสสี่เติบโต 0.2%

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีความผันผวนอย่างมากตามทิศทางปริมาณการค้าของโลกและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และวิกฤตการณ์การเมืองภายในประเทศ โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 54 อยู่ที่ 0.1%, ปี 55 อยู่ที่ 6.5%, ปี 56 อยู่ที่ 2.9%, ปี 57 อยู่ที่ 1% และในปี 58 น่าจะเติบโตได้ที่ 4-5% อัตราการเติบโตโดยในเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 54-58 อยู่ที่ 3%

"ถือว่ามีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอันเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยลงจากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และการขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชันที่เพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ การเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลานานๆจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในอนาคตและคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น" นายอนุสรณ์ กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยง และโอกาสที่จะต้องจับตา ได้แก่ 1.การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาและการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ จะสร้างแรงกดดันต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นซึ่งจะมีผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินและค่าเงินบาท เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 2.ทิศทางราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในช่วงขาลงและทรงตัวอยู่ที่ระดับ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยระดับราคามีโอกาสดีดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งต้วขึ้นเล็กน้อย

3.การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น มีผลทำให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน และเกิดภาวะ Yen Carry Trade และ Euro Carry Trade 4.ความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเป็นผลมาจากการไม่จัดการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และ 5.โอกาสและความเสี่ยงอันเกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปด้านต่างๆที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นายอนุสรณ์ ได้ประเมินแนวโน้มความเสี่ยงและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในปีหน้าว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 65% ซึ่งยังไม่ได้เป็นระดับที่จะมีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมจำนวนมาก จะมีเฉพาะบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่จะมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเพราะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 75-85% เช่น ปูนและวัสดุก่อสร้าง IC และ Semiconductor เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

จะมีการควบรวมกิจการมากขึ้นระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศและระหว่างกิจการในประเทศกับต่างประเทศ สินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าคงทนและผลิตจำหน่ายในประเทศขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย เช่น ยานยนต์ HDD (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างขยายตัวดีและมีความเสี่ยงต่ำ อุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้ายังคงเติบโตต่ำและความสามารถในการแข่งขันลดลง ยังคงมีการทยอยย้ายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารยังคงขยายตัวได้ดีและยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง อุตสาหกรรมปิโตรเลียมขึ้นอยู่นโยบายพลังงานของประเทศในอนาคตว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติกมีความเสี่ยงและต้นทุนลดลง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากการส่งออกในกลุ่มอาเซียน

ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยพยากรณ์ว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมฟื้นตัวจากระดับ 47%ในไตรมาส 2/57 มาอยู่ระดับ 65% ในปี 58 (แต่ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกและมีเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ) ราคาสินค้าเกษตร รายได้และผลผลิตภาคเกษตรโดยรวมยังคงหดตัวแต่ขยายตัวติดลบน้อยลง ยกเว้นปศุสัตว์ สินค้าประมงและปาล์มน้ำมัน ที่ขยายตัวเป็นบวก

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 58 น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.8% โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนโดยเติบโตได้ในระดับ 3.2% มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆโดยน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 1.1-1.2% เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอและขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งว่าจะได้รัฐบาลที่มีแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังแทนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหรือไม่ คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 1.2% ในปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจจีนปีหน้าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยน่าจะเติบโตได้ในระดับ 7.2-7.3% ทางด้านอาเซียนจะเติบโตเพิ่มขึ้น 5.8-6%

"การส่งออกของไทยจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2558 จากอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าโลกที่ระดับ 5% ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกแต่ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยส่วนใหญ่ของไทยไม่ดีขึ้นเพราะความสามารถในการแข่งขันของไทยค่อนข้างทรงตัว" นายอนุสรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ