(เพิ่มเติม) ปลัดพลังงาน เล็งหนุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะมองศักยภาพประเทศผลิตได้ 600 MW

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 4, 2014 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าชชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะของบริษัท ซินดิคาร์ทุม ซัสเทนเอเบิล รีซอร์สเซส (ประเทศไทย) ที่ตำบลทุ่งบัว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ขนาด 16 เมกะวัตต์ ว่า กระทรวงพลังงานจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะใช้พลังงานจากขยะ เพราะจะช่วยลดปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง

ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ถึง 600 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีการติดตั้งโรงไฟฟ้าขยะไม่ถึง 100 เมกะวัตต์ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะเอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะพิจารณาปรับราคารับซื้อเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเจริญเติบโตของสังคมเมือง การขยายตัวภาคอุตสาหกรรม และการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของคนยุคใหม่เป็นผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น โดยในปี 56 พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเท่ากับ 26.77 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่กำจัดแบบไม่ถูกต้อง

แต่หากนำขยะมูลฝอยไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบแบบถูกสุขลักษณะ จะมีผลพลอยได้จากกระบวนการนี้คืนกลับมาในรูปของพลังงานก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลักที่สามารถนำมาเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แม้ขยะดังกล่าวจะได้รับการฝังกลบแบบถูกวิธี แต่การย่อยสลายของอินทรียวัตถุประเภทเศษอาหาร เศษผลไม้ภายใต้สภาวะไร้อากาศ จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรงมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 21-25 เท่า

"ขยะเป็นอีกขุมทรัพย์พลังงานทดแทนที่จะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี กำหนดให้ประเทศไทยเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 64 ซึ่งขยะนับเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายการผลิตพลังงานในรูปของไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 400 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างสะสมที่รอการกำจัดถึง 19.9 ล้านตัน ดังนั้นการนำขยะมูลฝอยมาผลิตเป็นพลังงานนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้" นายอารีพงศ์ กล่าว

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขยะที่เดินเครื่องและมีการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแล้ว จำนวน 65 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าจากหลุมฝังกลบขยะถึง 24.5 เมกะวัตต์

ด้านนายโรเบิร์ต ดริสโคล ประธานกลุ่มบริษัท ซินดิคาร์ทุม ซัสเทนเอเบิล รีซอร์สเซส (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพหลุมฝังกลบที่มีการฝังกลบขยะรวมมากกว่า 5,500 ตันต่อวัน และก๊าซชีวภาพที่เก็บรวบรวมได้นั้นมีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนเฉลี่ยมากกว่า 50% ซึ่งสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้จึงมีการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ ขนาด 8 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรงคือ บริษัท ซีนิท กรีนเอ็นเนอยี จำกัด และบริษัท บางกอก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)

สำหรับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในขณะนี้มีประมาณ 482,000 MWh เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1,919,912 ตัน CO2 เทียบเท่า(ตั้งแต่ 2554-2557) โดยเฉลี่ยผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายเดือนละ 10,000 MWh โดย บริษัท ซีนิท กรีน เอ็นเนอยี จำกัด ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นรวม 491.28 ล้านบาท ระยะคืนทุน 5.55 ปี บริษัท บางกอก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นรวม 400.77 ล้านบาท ระยะคืนทุน 5.40 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ