(แก้ไข) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเศรษฐกิจปี 58 โตในกรอบ 3.5-4.5% จาก 1.2% ปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 12, 2014 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 4% หรือขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 57 โดยมีแรงขับเคลื่อนทั้งจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและการส่งออก แม้ว่าการส่งออกคงยังฟื้นตัวไม่เต็มที่นัก แต่ก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นมาขยายตัวในกรอบ 2.0-4.5% ตามทิศทางของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ และจากความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ขณะที่ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐที่คาดว่าน่าจะใกล้เคียงเป้าหมายมากขึ้นก็จะเป็นอีกแรงที่ช่วยหนุนจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 58 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำตลอดช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ให้กว้างและยาวนานขึ้น โดยคาดว่าทั้งปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% หรืออยู่ในกรอบ 1.0-2.2%

อย่างไรก็ดี ยังมีตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในปี 58 ดังนี้ โดยปัจจัยที่จะมีผลให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ จะมาจากกรณีเงินบาทอ่อนค่า, การปรับโครงสร้างราคาก๊าซ และการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ซึ่งหากมีการปรับขึ้น VAT ทุกๆ 1% จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.14%ต่อปี ส่วนปัจจัยที่จะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่ปรับเพิ่มไปจากประมาณการณ์ที่คาดไว้มาจากที่ภาครัฐยังคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท/วัน, การตรึงราคาสินค้า, การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน และราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

ส่วนแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปี 57 จากภาครัฐยังมีสัญญาณล่าช้า จึงทำให้ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อาจขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น ต่ำกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.6% เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/57 ฟื้นตัวได้ช้าจากผลการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ยังล่าช้า

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิรวมทั้งไทย โดยราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงเฉลี่ย 27.8% จะช่วยให้ประเทศไทยมีสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีขึ้น คิดเป็นมูลค่าราว 1.6% ของ Norminal GDP ในปี 58 และคิดเป็นการประหยัดเงินในการนำเข้าพลังงานสุทธิราว 3.1 แสนล้านบาท รวมทั้งยังเอื้อต่อการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศโดยไม่เพิ่มภาระต้นทุนต่อผู้บริโภคและธุรกิจ

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านราคาที่ไม่สร้างแรงกดดันมาก จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูง เช่น ธุรกิจขนส่ง, ประมง เป็นต้น อย่างไรก็ดี คาดว่าปีหน้าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล หรืออยู่ในกรอบ 65-75 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีโอกาสรีบาวน์ได้ในบางช่วง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับลดลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าในระดับ 4% ยังถือว่ามีความท้าทายอีกหลายปัจจัยที่อาจจะโตไม่ได้ตามนั้น รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจจะต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่งคงต้องจับตาในช่วง 2 เดือนแรกของปี 58 ด้วย

ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ควรจะใช้จังหวะนี้ในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในรอบการประชุมที่จะมีขึ้นวันที่ 17 ธ.ค.นี้ เพราะหากธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า เราจะไม่มีโอกาสทำอะไรได้ แต่ทั้งนี้หากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงจริง ในขณะที่ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ย่อมจะเกิดความผันผวนในการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมทั้งส่งผลต่อค่าเงินบาทด้วย ซึ่งคาดว่าในปีหน้าค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์

"ทั้ง 2 โจทย์นี้ถือเป็นโจทย์ที่ยากของ ธปท. อาจจะต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยเพิ่มเติมว่าเราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่...เรื่องดอกเบี้ยคงไม่สามารถตอบโจทย์ทุกโจทย์ได้ อยู่ที่ว่าโจทย์เฉพาะหน้าคืออะไร...ถ้าจะลดดอกเบี้ย ก็ควรจะทำตอนนี้ ถ้าไม่ทำตอนนี้ window จะลดลงไป อยู่ที่น้ำหนักการประเมินและให้ความเสี่ยง หรืออีกมุมมองอาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องทำก็ได้" นายเชาว์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ