ศูนย์วิจัย TMB ลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือโต 3.5% จาก 4% หลังศก.ฟื้นช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 23, 2014 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ศูนย์วิเคราะห์ฯได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP)ในปี 58 เหลือ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทั้งในด้านการบริโภคที่ยังประสบปัญหา การลงทุนที่ยังรอการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่เป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐคงยังไม่เข้าสู่ระบบเต็มที่ โดยประเมินเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบจริงในปี 59-60 ตามโครงการเร่งด่วนและแผนพัฒนารถไฟ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเฉพาะในยุโรป ขณะที่ญี่ปุ่นยังต้องจับตาการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบหรือการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อภาคการส่งออกของไทย โดยประเมินการขยายตัวของภาคส่งออกไทยในปีหน้าจะเติบโตราว 3.5%

"ปัจจัยเสี่ยงในปี 58 นอกจากเรื่องจากเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่ล่าช้ากว่าคาดแล้ว ยังมีในเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก แม้จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่ใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด แต่ยังกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักหลายตัว และรายได้เกษตรกรตกต่ำต่อเนื่องจากราคาสินค้ากระแสมีแนวโน้มตกต่ำลง"นายเบญจรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างแรงนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น รัสเซีย และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากรัสเซียมีสัดส่วนรายได้ถึง 10% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ลดลงยังมีโอกาสสร้างวิกฤตการเมืองระหว่างประเทศได้ ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯได้ประเมินราคาน้ำมันดิบในปีหน้าที่ 58 ดอลลาร์/บาเรล

ด้านการประมาณการณ์ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าจากปีนี้ โดยมองว่าค่าเงินบาทในปีหน้าจะอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ จากความกังวลของนักลงทุนต่อกรณีการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะหนุนค่าเงินดอลลาร์และกดดันสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่

"หลังจากนี้ไปคงต้องเฝ้าระวังความผันผวนของนโยบกายการเงินของต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกันด้วย เพราะว่าจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของค่าเงินในแต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทยเองด้วย"นายเบญจรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่าสภาพคล่องในปีหน้าอาจตึงตัวเล็กน้อย จากการกลับมาของการขยายตัวของสินเชื่อในประเทศ พร้อมกับแนวโน้มในการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯด้วย รวมทั้งการลดการคุ้มครองเงินฝากลงเหลือ 1 ล้านบาท จะส่งผลให้ต้นทุนของธนาคารปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภาวะสินเชื่อที่จะกลับมาขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจ ปัจจัยในภาคการเงินอื่นๆอาจเผชิญโรคเลื่อน ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบน่าจะมีอยู่ถึงต้นปี 59 ภายใต้เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.5-1.8% เอื้อต่อดอกเบี้ยนโยบายในระดับผ่อนคลาย และส่งผลดีกับสินทรัพย์เสี่ยงทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน

ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 58 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 10.9% จากปีนี้ขยายตัว 5.8% โดยสินเชี่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการขยายตัว ส่วนเงินฝากขยายตัวต่ำกว่าสินเชื่อเล็กน้อยที่ระดับ 9.3% แต่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่อยู่ที่ 4.4% โดยมองว่าธนาคารพาณิชย์จะดำเนินกลยุทธ์ด้วยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่น่าดึงดูดความสนใจและมีความยืดหยุ่นในการถอนเงินได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน หลังจากนี้ไปธนาคารไทยจะเริ่มเข้าสู่รูปแบบธุรกิจธนาคารไร้สาขา โดยสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ ผ่านช่องทางออนไลน์ของแต่ละธนาคาร โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขา เพื่อสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของภาครัฐ

ธุรกิจที่จะมีความโดดเด่นในปี 58 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการนโยบายและแผนการลงทุนพัฒนาของภาครัฐ เช่น พลังงานทดแทน ไอทีและสื่อสารเทคโนโลยี ก่อสร้างหรือที่ปรึกษาวิศวกรรม-สิ่งแวดล้อม และวัสดุก่อสร้าง กลุ่มที่ 2 ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก พร้อมรับแรงสนับสนุนจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้แก่ ท่องเที่ยว ขนส่ง แปรรูปอาหาร ค้าปลีก และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น

ส่วนธุรกิจที่มีปัจจัยต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันจากความเสี่ยงในการบริหารจัดการสต๊อก กลุ่มสินค้าคงทน (ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังคงถูกกดดันจากระดับหนี้ครัวเรือนที่อยุ่ในระดับที่สูง สินค้าเกษตรและแปรรูปที่มีปัญหาจากราคาสินค้าเกษตรหลัก และกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิต ที่จะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ