ออมสินโชว์กำไร 11 เดือนกว่า 2 หมื่นลบ.ทะลุเป้า-ปี 58 เดินหน้าหนุนศก.ฐานราก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 29, 2014 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลประกอบการธนาคารออมสินในช่วง 11 เดือนปี 57 (1 ม.ค.-30 พ.ย.)ว่า มีกำไรสุทธิหลังหักโบนัสจำนวน 20,436 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 57 จำนวน 19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 107.56%

ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากการขยายตัวของสินเชื่อ รวมทั้งความสำเร็จในการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการติดตามและปรับปรุงคุณภาพหนี้ให้ดีขึ้น จึงส่งผลให้ระยะ 11 เดือนของปี 57 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 51,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,333 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 มีเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น 1,814,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 168,812 ล้านบาท

การขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้นั้น ปรากฎว่าเพิ่มขึ้นสุทธิ 136,061 ล้านบาท สูงกว่าแผนงานของธนาคารที่ตั้งเป้าหมายไว้ 75,500 ล้านบาท หรือสูงกว่าแผน 180.21% มาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามนโยบายเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อแก่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย สินเชื่อเพื่อธุรกิจSMEs ตลอดจนสินเชื่อแก่หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สินเชื่อบุคคลรายย่อย สินเชื่อเคหะ โดยที่ธนาคารฯ ยังดำรงสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 93 : 7

ทั้งนี้ ธนาคารฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 3,378 ล้านบาท สูงกว่าแผนงานของธนาคารที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2,900 ล้านบาท หรือสูงกว่าแผน 116.48% โดยรายได้ด้านนี้ส่วนสำคัญมาจากการบริหารพอร์ตลงทุนที่ได้กำไรและเงินปันผลในระดับที่ดี ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3,590 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 235 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมเงินกู้และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 2,211,188 ล้านบาท ส่วนสภาพคล่องอยู่ในระดับ 130,000 ล้านบาท

ขณะที่ในส่วนของการรับฝากเงิน ภายใต้ภารกิจความเป็นสถาบันเพื่อการออมของธนาคารออมสิน ปรากฏว่ามียอดเงินฝากรวม 1,886,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 130,158 ล้านบาท ส่วนมากเป็นเงินฝากประจำ 3 เดือน เงินฝากประจำ 12 เดือน เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษเพื่อส่งเสริมการออมต่อเนื่อง ได้แก่ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพิ่มสุข" อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.5% ต่อปี “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือน" อัตราดอกเบี้ยจาก 2.20% ต่อปี “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน" อัตราดอกเบี้ย 2.65% ต่อปี ซึ่งทั้ง 3 ประเภทนี้เป็นเงินฝากยกเว้นภาษีและเปิดรับฝากจนถึงสิ้นปี 2557

นอกจากนี้ยังมี “สลากออมสินพิเศษ 3 ปี" แคมเปญแจกทองคำมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดรับฝากไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 และ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 7 เดือน" อัตราดอกเบี้ย 2.70-2.80% ต่อปี เปิดรับฝาก จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2558

"ในช่วงไตรมาส 4 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างมากมาย โดยเพียงแค่ 2 เดือน (ต.ค.-พ.ย.57) รวมแล้วเพิ่มขึ้นสุทธิกว่า 10,000 ล้านบาท ในทุกประเภทสินเชื่อ รวมถึงสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงโครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่สินเชื่อปกติในธุรกิจของธนาคารออมสิน ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ เงื่อนไข ที่น่าสนใจและตรงกับความต้องการของลูกค้าต่อเนื่อง และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2557 ผลประกอบการของธนาคารออมสินจะมีกำไรสุทธิประมาณ 23,000 – 24,000 ล้านบาท" นายธัชพล กล่าว

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ จนส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนขาดความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารออมสินได้ผ่อนปรนด้วยมาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรายย่อยจนถึงระดับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ด้วยการลดเงินงวดผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน มาตรการบรรเทาเหตุแผ่นดินไหว พักชำระหนี้ลูกค้าเดิมไม่เกิน 6 เดือน ลดเงินงวด/ขยายเวลาผ่อนชำระ ช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคล่องตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการมาประกอบกับการทำงานอย่างหนักของผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้อัตราส่วน NPLs ลดลงอย่างต่อเนื่องจนล่าสุด ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 1.52% ของสินเชื่อรวม โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2557 จะลดลงเหลือเพียง 1.3 - 1.4% ทั้งนี้ ธนาคารออมสินยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุมและผ่อนปรนตามความเหมาะสม พร้อมกับเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ ซึ่งการแก้ไขหนี้อย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว ธนาคารฯ ได้ดำเนินการควบคู่กับการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมและรัดกุม ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพจึงทยอยปรับลดลง NPLs ลดลง สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างสมดุล

นายธัชพล กล่าวต่อว่า ในปี 58 ธนาคารฯ จะมุ่งให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของสินเชื่อ Micro SME และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านสินเชื่อที่ให้วงเงินกู้และเงื่อนที่ผ่อนคลายภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย พร้อมทั้งการดูแลคุณภาพหนี้เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ