ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 7, 2015 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่อิงกับเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ด้วยการกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีที่ 2.5% และมีกรอบการเคลื่อนไหวขึ้นลง (+/-) ไม่เกิน 1.5% เทียบกับเดิมที่การดำเนินนโยบายการเงินจะอิงกับกรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ 0.5-3.0% ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.43 ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับธนาคารกลางหลายประเทศในโลก ขณะที่แม้ตะกร้าเงินเฟ้อของไทยจะประกอบด้วยสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน (ที่ราคามักเคลื่อนไหวผันผวน) ด้วยสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่การแกว่งตัวของเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของทางการ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเหมาะสมของกรอบเป้าหมายดังกล่าวในทางปฏิบัติ
"กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของไทย 2.5% พร้อมช่วงการเคลื่อนไหวที่ +/-1.5% แม้จะมีช่วงที่กว้างกว่าหลายประเทศและกว้างกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ก็เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และเอื้อต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก ประการแรก กรอบเงินเฟ้อใหม่มีช่วงการเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้นมาที่ 3.0% เทียบกับ 2.5% ภายใต้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐานเดิม (ที่กำหนดกรอบไว้ที่ 0.5-3.0%) ซึ่งสะท้อนถึงความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินที่มากขึ้น และช่วยให้ทางการไทยมีพื้นที่เชิงนโยบายเพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดคิดที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ" ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางที่เลือกดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น ส่วนใหญ่จะกำหนด ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ เป็นเป้าหมายเชิงนโยบาย ขณะที่ การกำหนดระดับและกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมต่อการใช้เป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ตลอดจน องค์ประกอบของตะกร้าสินค้าที่ประเทศเหล่านั้นนำไปใช้คำนวนอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะกำหนดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในระยะกลางที่ประมาณ 2-3% อาทิ เฟด ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ต่างมีการกำหนดระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% อันเป็นระดับที่สอดคล้องและอ้างอิงไปถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจตามระดับศักยภาพของประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ที่เพิ่งเข้าเป็นกลุ่มสมาชิกประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ได้มีการกำหนดระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ส่วนประเทศในตลาดเกิดใหม่ มีการกำหนดระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่สูงกว่า อาทิ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีการกำหนดที่ระดับ 4.0% และ 4.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ตะกร้าเงินเฟ้อของไทย จะประกอบด้วยสินค้าประเภทอาหารและพลังงานสูงกว่าหลายประเทศ แต่เงินเฟ้อก็แกว่งตัวในกรอบที่แคบกว่าหลายประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์และยูโรโซน รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานมีน้ำหนักสูงกว่าไทยเล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากทางการไทยมีการดูแลการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญที่ทางการอย่างใกล้ชิดจำนวน 205 รายการ (ซึ่งครอบคลุมสินค้าอาหารสด จำพวกเนื่อสัตว์ ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์นมหลายตัวที่อยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อด้วย) ควบคู่กับการอาศัยกลไกการตรึง/อุดหนุนราคาพลังงานในประเทศในระยะที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปีที่อยู่ในกรอบเป้าหมายใหม่ คงทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)ไม่ต้องพะวงกับแรงกดดันด้านราคา เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าราคาพลังงานโลกยังมีทิศทางที่ผ่อนคลาย ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างพลังงานในประเทศ ต่อระดับเงินเฟ้อ และส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของทั้งปี 2558 ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้วยกรอบคาดการณ์ประมาณ 1.0-2.2% หรือมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 1.5% เทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ของ ธปท. ที่ 1.0-4.0% (หรือ 2.5% +/- 1.5%)

ทั้งนี้ ภาพดังกล่าว ทำให้ ธปท.มีความยืดหยุ่นเชิงนโยบาย โดยสามารถเลือกรอติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เพื่อประเมินระดับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงที่ชัดเจนขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาท่าทีเชิงนโยบายที่เหมาะสมในจังหวะนั้นๆ ในลำดับถัดไป

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ด้วยราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างเร็ว ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ประกาศออกมาในแต่ละเดือน จะอยู่ต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่ 1% ในระหว่างช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งแม้ในทางปฏิบัติ จะไม่กระทบต่อการดำเนินการเชิงนโยบายที่ยึดกับมุมมองต่อเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปี โดยเฉพาะหากการปรับตัวลดลงแรงของราคาน้ำมันโลกที่หลุดระดับ 50 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลดังกล่าว ปรากฏขึ้นในลักษณะชั่วคราว แต่ก็อาจทำให้ ธปท.ต้องอธิบายทำความเข้าใจต่อสาธารณชนถึงสาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าวและจุดยืนเชิงนโยบายเพื่อเอื้อต่อการปรับตัวและการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติเชิงนโยบายของธปท.ที่ผ่านมาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทางการไทยอาจต้องวางแนวทางรับมือกับสภาวะการณ์ที่ปัญหาหลายด้านอาจปรากฎขึ้นด้วยน้ำหนักและระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2558 อาทิ ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่ และประเด็นเชิงเสถียรภาพที่ทวีความสำคัญมากขึ้น อาทิ ความผันผวนด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มขึ้นหากเฟดเริ่มส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการขยับขึ้นต่อเนื่องของหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาจต้องพึ่งเครื่องมือเชิงนโยบายอื่นๆ ประกอบด้วย นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ย...ถ้าจำเป็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ