(เพิ่มเติม) รมช.คมนาคม เผยปีนี้ได้เห็นเขตศก.พิเศษแห่งแรกใน อ.แม่สอด เอกชนขานรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 19, 2015 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.)ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้เร่งรัดการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าจะได้เห็นการจัดตั้งแห่งแรกที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ภายในปีนี้ และที่เป็นไปได้ตามมา คือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พร้อมทั้งเพิ่ม จ.หนองคาย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดนำร่องระยะแรกในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงการรถไฟรางมาตราฐาน กรุงเทพฯ- หนองคาย และเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการกิจการเป้าหมายที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับการประกาศนโยบายที่จะส่งเสริมการลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า และให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันหารือ

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษใน 3 ประเภทหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ศูนย์กลางการค้าและกระจายสินค้า และร้านค้าปลอดอากร ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับถือว่ามีความใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการที่ลงทุนในจังหวัดที่มีความยากจน 20 จังหวัด หรือใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์การลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่แสดงความสนใจลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวนโยบายของรัฐบาลแล้ว ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เครือสหพัฒนพิบูล และ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น(AMATA) เป็นต้น

เครือเจริญโภคภัณฑ์ สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมสินค้าแปรรูปและระบบโลจิสติส โดยเฉพาะ จ.สระแก้ว และ อ.แม่สอด, ไทยเบฟเวอเรจ สนใจตั้งศูนย์กระจายสินค้า , เครือสหพัฒนพิบูลสนใจลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และ AMATA สนใจตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้การดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทำได้เร็วขึ้น หากมีแผนการลงทุนชัดเจน เพราะช่วยส่งเสริมด้านการค้า รวมถึงความพร้อมในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กำหนดกิจการเป้าหมายในส่วนสินค้าเกษตรที่จะส่งเสริมการรับซื้อผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านและนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกต่อไป ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนการกำหนดและจัดหาพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะกำหนดอำเภอหรือตำบล ที่มีความเหมาะสม โดยมอบให้ รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ดูแลผังเมืองไปจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูความพร้อมก่อนเสนอให้นักลงทุนที่มีความสนใจ และเปิดโอกาสให้นักลงทุนหาพื้นที่นอกเหนือจากที่รัฐประกาศไว้ด้วย ซึ่งหากมีความเหมาะสมรัฐพร้อมสนับสนุนและประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกาการใน 5 จังหวัดนำร่อง โดยตั้งงบประมาณประจำปี 2558 จำนวน 45 โครงการ วงเงิน 2,622 ล้านบาท และในปี 2559 จำนวน 79 โครงเร วงเงิน 7,924 ล้านบาท

นายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงแรงงานจัดระบบแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการดูแลค่าแรงและสวัสดิการให้กับแรงงานต่างด้าวด้วย อีกทั้งต้องเตรียมการเรื่องการจัดระบบสาธารณสุข การศึกษา ความปลอดภัยของแรงงานและนักท่องเที่ยวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ