(เพิ่มเติม) พลังงาน คาดประกาศโซลาร์สหกรณ์ 800 MW-รับซื้อโซลาร์ฟาร์มที่เหลือในก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2015 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ได้วางมาตรการการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ตัดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟ จำนวน 69 เมกะวัตต์
ขณะนี้ได้ออกระเบียบการรับซื้อโซลาร์รูฟ เพิ่มให้ครบ 100 เมกะวัตต์ มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งการออกประกาศคาดว่าจะมีผล
บังคับใช้ภายในเดือน ก.พ. 58

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หน่วยงานราชการ รวมทั้งสหกรณ์ฯ จำนวน 800 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการร่างระเบียบ คาดว่าจะประกาศได้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.พ.58

สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยื่นข้อเสนอแล้วแต่ยังไม่ตอบรับ จำนวน 1,013 เมกะวัตต์ ได้ออกระเบียบการรับซื้อสำหรับผู้ที่ยื่นขอขายไฟไว้ในระบบ adder เดิมแล้ว และคาดว่าประกาศจะออกบังคับใช้ภายในเดือน ก.พ. 58

นายวีระพล กล่าวว่า ตามแผนรัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มพลังงานหมุนเวียนภายในปี 64 จำนวนรวม 13,924 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ,ไบโอแก๊ส ,ไบโอแมส ,พลังน้ำ ,ลม ,แสงอาทิตย์ และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีการรับซื้อไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันแล้วราว 58% หรือ 8,038 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้มีการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว(COD) จำนวน 4,273 เมกะวัตต์

สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์ ในระบบของ Feed-in Tariff (FiT)นั้น ซึ่งจะมีการกำหนดโซนนิ่งเพื่อลดการแย่งชิงวัตถุดิบและแก้ปัญหาระบบสายส่ง โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการออก Bidding ได้ในเดือนมี.ค.-เม.ย.58 สำหรับโครงการที่มีขนาดเล็กกว่า 10 เมกะวัตต์(กลุ่ม VSPP)

ส่วนการต่ออายุโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) และเอกชนรายเล็ก(SPP) ที่จะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น กกพ.ได้กำหนดแนวทางในการต่อสัญญารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP ที่จะหมดอายุ ซึ่งปกติจะต่ออายุให้ประมาณ 6 ปี แต่ต้องพิจารณาปัจจัยจากทางด้านเทคนิค ทั้งศักยภาพของโรงไฟฟ้า และความพร้อมของเครื่องจักร รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม การยอมรับของชุมชน ด้านราคา เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของ SPP ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration) นั้นได้มีแนวทางในการส่งเสริมเสริม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.58

"SPP เราจะเสนอในเชิงนโยบายที่ยังต้องมี SPP ในอนาคต เดิม SPP ส่วนใหญ่จะมุ่งขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเป็นหลัก ก็จะกำหนดกติกาอยากให้เป็น SPP ที่ผลิตไอน้ำขายอุตสาหกรรม และขายไฟฟ้าให้ลูกค้าตัวเอง ส่วนที่เหลือค่อนขายออกมาให้กฟผ. เดิมเคยขาย 90 เมกะวัตต์ก็จะต้องลดลง ส่วนราคารับซื้อก็ต้องมารีวิวใหม่จะทำเป็นเกณฑ์ที่ชัดเจน"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวอีกว่า กกพ.ยังได้จัดทำโครงการนำร่อง Thailand Demand Response (DR) เพื่อบริหารจัดการวิกฤตพลังงานและลดต้นทุนการสำรอง หรือการใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และช่วยหลีกเลี่ยงการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดการภาวะวิกฤตพลังงาน

โดยในปีนี้กกพ.ยังได้เตรียมจัดทำแผนและมาตรการรับมือในช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซฯเป็น 3 ช่วง ได้แก่ แหล่างยาดานา ช่วงวันที่ 10-18 เม.ย.58 จะทำให้ก๊าซฯหายจากระบบจำนวน 1,100 ล้านบลบ.ฟ./วัน , แหล่ง JDA-A18 ช่วงวันที่ 7-13 มิ.ย.58 ทำให้ก๊าซฯหายจากระบบ 420 ล้านลบ.ฟ./วัน และ แหล่ง JDA-A18 ช่วงวันที่ 30 ส.ค.- 8 ก.ย. 58 ซึ่ง จะทำให้ก๊าซฯหายจากระบบ 420 ล้าน ลบ.ฟ./วันในช่วงดังกล่าว

นอกจากนี้กกพ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯของบมจ.ปตท.(PTT) ใหม่อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 58 ซึ่งเป็นการทบทวนในทุกๆ 5 ปี เพื่อปรับอัตราค่าผ่านท่อให้มีความเหมาะสม หลังจากนั้นจะประกาศใช้อัตราใหม่ต่อไป จากปัจจุบันอัตราค่าผ่านท่ออยู่ในระดับราว 21 บาท/ล้านบีทียู

สำหรับความคืบหน้าการจัดทำข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แก่บุคคลที่สามนั้น ขณะนี้กกพ.ได้ให้ความเห็นชอบข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตที่เป็นเจ้าของโครงข่ายฯจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขการบริการ(TPA Code) ซึ่งขณะนี้มีเพียงกลุ่ม PTT เพียงรายเดียว โดยทาง PTT ได้จัดทำ TPA Code แล้วเสร็จและได้รับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 21 ม.ค.58 และคาดว่ากกพ.จะพิจารณาเห็นชอบและประกาศฯได้ภายในมี.ค.58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ