"หม่อมอุ๋ย"ยันไม่จำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจากรอบแรกเห็นผลแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 6, 2015 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนต.ค.57 ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายใประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.58 ประชาชนมีการใช้จ่ายสูงถึง 5.8 แสนล้านบาท ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถึง 4.01 หมื่นล้านบาท จากปี 56 อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท มีปัจจัยมาจากในเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวดลง, การช่วยเหลือชาวสวนยางในวงเงินรวม 8,500 ล้านบาท และการเปิดโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ให้เติบโตได้ถึง 4% จึงมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบที่สองอีก

"ตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา การกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะส่งผลมายังปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากราคาน้ำมันที่น่าจะปรับลดลงเรื่อยๆ การช่วยเหลือชาวนา ชาวสวนยางต่างๆ รวมถึงการอนุมัติการประกอบกิจการโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้เราก็จะยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอนุมัติให้เกิดโรงงานใหม่ที่เหลืออยู่อีก 2,000 กว่าแห่ง เพื่อให้เกิดการลงทุน และเข้ามาเป็นเงินหมุนเวียนในระบบ อย่างไรก็ตาม ก็พยายามใช้เงินให้ครบและลงไปในทุกภาคส่วน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยไม่ให้เสียเปล่า"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะยังคงเข้าไปช่วยเหลือชาวนา, ชาวสวนยางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาครม.ได้อนุมัติโครงการช่วยเหลือชาวนา ในส่วนของพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากที่มีอยู่ 3,062 ตำบล โดยช่วยเหลือตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อช่วยให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต และมีเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมถึงโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยไม่เกินครอบครัวละ 1 แสนบาท เพื่อให้นำไปใช้ปรับปรุงต้นยาง หรือประกอบกิจการอื่นๆ โดยขณะนี้มีผู้มายืนขอแล้ว 1 แสนราย และมีการอนุมัติ 1.5 หมื่นราย โดยที่เหลือรัฐบาลจะเร่งอนุมัติให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีเงินไปลงทุนในฤดูกาลหน้า ประกอบการการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการก่อสร้าง-ซ่อมแซม โรงเรียน ศาลา สถานีอนามัยทั่วประเทศ ซึ่งมีวงเงินลงทุนจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น มองว่าหากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง จะช่วยส่งผลดีเศรษฐกิจภายในประเทศ และส่งผลมายังตลาดหุ้นไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้กดดันการทำงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่ง กนง.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะตัดสินในเรื่องดังกล่าวได้ โดยการประชุมกนง.ที่ผ่านมาได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2%

ส่วนการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังมีความล่าช้ากว่าที่ควร และการใช้จ่ายภาครัฐปกติมีการใช้จ่ายเพียง 12% ของงบลงทุนทั้งปี ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปเร่งการใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวเพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น โดยจะผลักดันให้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในเดือนมี.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ