ครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายล้มละลายให้มีความเป็นธรรมและทันสมัยมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 10, 2015 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
"เป็นการปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายให้มีขั้นตอน กระบวนการสั้นขึ้น มีความชัดเจน ทันสมัย...กฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่องค์การการค้าโลกเรียกร้อง ถ้าเราออกกฎหมายฉบับนี้ได้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินจะดีขึ้น" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ ขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นการขอรับชำระหนี้ รูปแบบในการขอประนอมหนี้ และบทกำหนดโทษของลูกหนี้ เป็นเหตุให้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายล่าช้า ไม่คุ้มครองสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ ประกอบกับคดีล้มละลายเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป และผลของคดีล้มละลายจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม จึงสมควรปรับปรุง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เพื่อปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนกระบวนการล้มละลายในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณามีคำสั่งอนุญาตคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องเสนอศาล ซึ่งเป็นหลักการเช่นเดียวกับคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ อันจะทำให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการล้มละลายในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพิ่มเติมขั้นตอนในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในมูลหนี้ของเจ้าหนี้ที่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ปรับปรุงสิทธิลูกหนี้ร่วมและผู้ค้ำประกันในการได้รับชำระหนี้โดยการรับช่วงสิทธิ ตลอดจนปรับปรุงการยื่นคำขอประนอมหนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาให้เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้ว

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ กำหนดเงื่อนไขในการนับคะแนนเสียงของเจ้าหนี้ และการเป็นกรรมการเจ้าหนี้ที่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้สั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้, กำหนดเงื่อนไขคำขอประนอมหนี้ โดยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับลำดับการชำระหนี้ จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้ ความสามารถในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ กำหนดเวลาชำระหนี้ การจัดการกับทรัพย์หลักประกัน และผู้ค้ำประกันด้วย, กำหนดให้การขอรับชำระหนี้ต้องยื่นคำขอภายในระยะเวลา และมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินและหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สิน ตลอดจนเอกสารที่แสดงว่าหนี้นั้นมีมูลตามที่กำหนด, กำหนดให้ศาลมีคำสั่งรับคำขอชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อศาลเห็นว่าหนี้นั้นมีมูล และมีเหตุจำเป็นสมควร โดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินที่มีอยู่ภายหลังการแบ่งทรัพย์สินก่อนเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้,

กำหนดให้ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ของลูกหนี้ร่วมที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ได้ หรือหากได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้ถือว่าลูกหนี้ร่วมที่ชำระหนี้แทนเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้, กำหนดให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้อาจขอตรวจหรือโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดสี่สิบวัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่หากมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายระยะเวลาดังกล่าวได้, กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ได้ แต่หากมีข้อโต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนด และให้มีอำนาจคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ หรือลดจำนวนหนี้ หากคำสั่งให้รับชำระหนี้เป็นการสั่งไปโดยหลงผิด และกำหนดบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืน การละเว้น กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีเจตนาฉ้อฉล ยักย้าย ซุกซ่อน หรือหลบซ่อนตัว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ