ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาด GDPQ1/58 โต 4% หวังบริโภคกลับมาบวกหลังราคาน้ำมันลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2015 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2558 น่าที่จะยังคงเติบโตเป็นบวกประมาณร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(QoQ, SA) ขณะที่อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอาจมีระดับสูงกว่าร้อยละ 4(YoY) เนื่องจากเปรียบเทียบกับฐานต่ำในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญมรสุมทางการเมืองในไตรมาส 1/2557 (ซึ่ง GDP หดตัวร้อยละ 0.5 YoY)

โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่น ส่วนการใช้จ่ายของภาคเอกชนน่าจะได้รับแรงบวกจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มและช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจลงได้ กอปรกับคาดหวังว่าแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจะเร่งตัวมากขึ้น

"แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2558 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภาคส่วน ทำให้คาดว่าการบริโภคและการลงทุนน่าจะไม่หดตัวต่ำลงไปกว่าในไตรมาส 4/2557 ที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรุดตัวลงอาจมีผลต่อมูลค่าการส่งออก" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวในระดับร้อยละ 4.0 ตามที่ประมาณการไว้ได้นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวในภาคการส่งออก และการเบิกจ่ายของรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยในส่วนของอุปสงค์ในภาคเอกชนนั้น หากภาคธุรกิจมีการลงทุนตามที่ได้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนไว้ (จากยอดมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2.19 ล้านล้านบาทในปี 2557) ย่อมจะเป็นแรงสนับสนุนให้สถานการณ์การจ้างงานทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งถ้าราคาสินค้าและราคาน้ำมันยังทรงตัวใกล้เคียงกับปัจจุบัน ก็น่าที่จะส่งผลบวกต่อไปยังการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ

ขณะที่คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังคงรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องถ้าบรรยากาศทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อย ดังนั้นประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การลงทุนของภาครัฐซึ่งที่ผ่านมายังมีความล่าช้า และสถานการณ์การส่งออกซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันให้การเติบโตของเศรษฐกิจทั้งปี 2558 อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแม้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังกระจายตัวไปไม่ทั่วถึงทุกภาคส่วน เนื่องจากภาคเกษตรกรรมยังประสบปัญราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกยังเผชิญความอ่อนแอจากปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่างประเทศ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งผลักดันโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีความคืบหน้าได้รวดเร็วขึ้น เพื่อก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการดูแลช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

"มุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2558 นั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงมีความเปราะบางในหลายด้าน ทำให้การประเมินภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังคงต้องติดตามการรายงานตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อย่างใกล้ชิด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ