ภาคปชช.ยันจุดยืนเดิมแก้กม.ก่อนเปิดสัมปทาน-ภาครัฐแจงหวั่นกระทบความมั่นคง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 20, 2015 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาคประชาชนวอนให้รัฐบาลเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอสำรวจปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและภาครัฐได้ประโยชน์ที่เหมาะสม ขณะที่นักวิชาการและตัวแทนรัฐบาล แสดงความเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงพลังงานเพิ่มขึ้น หลังปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศลดน้อยลง ท่ามกลางความต้องการใช้ที่ขยายตัวต่อเนื่อง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนกลุ่มคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เสนอให้เวทีเสวนาให้พิจารณาถึงเหตุผลสำคัญ 5 ข้อในการแก้ไขกฎหมายด้านพลังงาน โดยเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานที่องค์กรภาคเอกชนเสนอนั้นจะเป็นการเพิ่มสิทธิให้ประชาชนเจ้าของทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและลดความขัดแย้ง, เพิ่มทางเลือกในการบริหารงานให้รัฐบาล จากเดิมที่เป็นการให้สัมปทานเพียงอย่างเดียว, เอื้อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นจากเดิมที่ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเดิมมีความได้เปรียบ, อุดช่องว่างของกฎหมายเดิมที่ผู้ประกอบการใช้สร้างความได้เปรียบ, การบริหารเกิดความโปร่งใสและความไว้วางใจ

"การเลื่อนเวลา(เพื่อแก้ไขกฎหมาย)ออกไปอีก 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปีจะกระทบต่อความมั่นคงก็ต่อเมื่อ ระยะเวลาเพียง 2 ปีสามารถเปลี่ยนของมีค่าอยู่ใต้ดินหรือใต้ทะเลให้เป็นของไม่มีค่าได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว รายได้ที่เกิดขึ้นจะกลับคืนสู่ประชาชนเจ้าของทรัพยากรได้อย่างไร ขณะที่มีแปลงสัมปทานบางแห่งกำลังจะหมดอายุลงแต่ยังมีปริมาณปิโตรเลียมสำรองอยู่ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้สัมปทานอีกต่อไปแต่สามารถเปลี่ยนเป็นจ้างผลิต

หลักการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าทรัพยากรด้านพลังงานเป็นของประชาชนนั้นในปัจจุบันยังเป็นความจริงอยู่หรือไม่ ตนเองอยากให้กฎหมายที่รัฐบาลจะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารด้านพลังงานสามารถตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ 1.ประสิทธิภาพ 2.ความมั่นคง และ 3.ความเป็นธรรม

การออกมาเรียกร้องดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1.คุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนในฐานะเจ้าของทรัพยากร 2.คุ้มครองสิทธิของประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจพลังงาน และ 3.คุ้มครองเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย รวม 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง และแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง โดยให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ โดยการเปิดสัมปทานรอบนี้จะใช้ระบบสัมปทานแบบ Thailand 3+ ขณะที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานนำระบบ PSC มาใช้

ล่าสุดกระทรวงพลังงาน เปิดช่องปรับสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 สำหรับ 3 แปลง G3/57 ,G5/57 และ G6/57 เป็นระบบ PSC ซึ่งจะดำเนินการภายใน 4 ปี ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาการสำรวจปิโตรเลียมและจะต้องเป็นการเจรจาที่บรรลุข้อตกลงกันทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายราชการและผู้ที่ได้รับสัมปทาน

ด้านตัวแทนภาคประชาชน โดยม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ภาคประชาชนไม่ได้คัดค้านการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม แต่ติดใจกระบวนการที่ยังมีข้อด้อยที่ควรต้องแก้ไข และก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลทำอย่างชักช้า

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง เห็นว่าภาครัฐบาลควรจะมีการแก้ไขกฎหมายให้มีความชัดเจน ก่อนที่จะมีการเปิดให้สำรวจปิโตรเลียม โดยเฉพาะเรื่องของระบบ PSC ที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในบางแปลงสำรวจสำหรับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นี้นั้น เพราะหากไม่มีความชัดเจนในด้านการแบ่งปันผลผลิตแล้ว ก็อาจจะกระทบต่อข้าราชการและรัฐบาลในสมัยหน้าที่จะเข้ามาบริหารประเทศได้

"ระบบแบ่งปันผลผลิตดีกับประเทศคำถามคือ ทำไมไม่แก้ไขกฎหมายก่อนในช่วงพิเศษแบบนี้ การออกกฎหมายตามมา ทีหลังการให้สัปมทานแล้วจะใช้กันอย่างไร...รัฐบาลบอกว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายจะใช้เวลา แสดงว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้ศึกษาว่าระบบนี้มาก่อน ทั้งๆที่ต่างประเทศใช้กันมากว่า 40 ปีแล้ว สถานการณ์วันนี้รัฐมีอำนาจพิเศษถ้าต้องการเร่งรัดก็น่าจะทำได้"นายธีระชัย กล่าว

ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวในเวที "เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน" ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ครั้งนี้ ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินการล่าช้ามานานแล้ว และการเปิดสัมปทานรอบนี้ไม่ใช่เพียงแค่นำพลังงานมาใช้ แต่เป็นการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ถ้าหากล่าช้าไปอีก 2 ปี เพื่อแก้ไขกฎหมายก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการแก้ไขกฎหมายจะต้องใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหน

นายมนูญ กล่าวตอีกว่า ไม่ได้ต่อต้านระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) เห็นด้วยกับการใช้ระบบที่ผสมผสานกัน แต่การเปิดสัมปทานปิโโตรเลียมรอบที่ 21 มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากชักช้ามาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากขณะนี้ปริมาณลดลง ขณะที่ความต้องการเพิ่มมากขึ้น ถ้าพบเร็วก็สามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่า

"ก๊าซฯจากแหล่งเยตากุนในพม่าลดลง 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเมื่อแหล่งเยตากุนลดลง ก็ทำให้ต้องลดก๊าซฯจาก แหล่งยาดานาในพม่าด้วย 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน นอกจากนี้ก๊าซฯจากทางด้านมาเลเซียแหล่งเจดีเอก็จะลดลง 300 ล้านลูกบากศ์ฟุต/วันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เพราะมาเลเซียเรียกก๊าซฯคืนตามสัญญา ก็จะทำให้ปริมาณก๊าซฯเราหายไปรวมแล้วเกือบ 1 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน นับว่าเป็นภัยคุกคามด้านพลังงานที่เกิดขึ้นจริง เป็นสิ่งที่เราต้องหาทางแก้ไขความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น แน่นอนการสำรวจในช่วงนี้ 4-5 ปียังไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่มีปิโตรเลียม แต่ถ้าช้าไป 2 ปีก็มีความเสี่ยงมากขึ้น กระทรวงพลังงาน คงรอไม่ได้ ขณะนี้เราช้ามามากแล้วและจะปล่อยให้ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว"นายมนูญ กล่าว

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยลดลงทุกวัน ขณะที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น โดยตามข้อมูลล่าสุดพบว่าปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วทั้งในส่วนที่มีความมั่นใจและส่วนที่มีความมั่นใจเพียง 50% นั้น จะมีปริมาณสำรองราว 13 ปีเท่านั้น ซึ่งทำให้มีความจำเป็นที่กระทรวงพลังงานจะต้องจัดหาพลังงานเพื่อ ความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ตามที่ภาคประชาชนเสนอนั้นดีกว่าระบบสัมปทานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะในหลายประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เช่น พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ซึ่งได้เคยทำงานคลุกคลีมากว่า 8 ปี ได้เห็นถึงช่องว่างของระบบแบ่งปันผลผลิตมากมาย และมีกรณีพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการหลายประเด็น เนื่องจากระบบนี้จะมีข้อโต้แย้ง ทั้งเรื่องปริมาณและผลตอบแทนจากการผลิต และไม่สามารถเปรียบเทียบแต่ละประเทศได้ เพราะแต่ละประเทศมีสถานการณ์แตกต่างกัน รัฐบาลในแต่ละประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตก็ได้สัดส่วนกำไรแตกต่างกัน

นอกจากนี้การแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ยังมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์มาเป็นฉบับที่ 6 แล้ว จนทำให้เราใช้ระบบ Thailand III มาจนปัจจุบัน และรายได้ที่รัฐได้รับ ก็ไม่ได้มีค่าภาคหลวงอย่างเดียว แต่ยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษด้วย หากผู้รับสัมปทานมีรายได้รายปีสูงเกินสมควร ส่วนการคิดผลตอบแทนนั้น ทางกระทรวงพลังงานไม่ได้คิดสูตรเอง แต่ผ่านการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และพิจารณาจากผุ้ทรงคุณวุฒิหลายคน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ