(เพิ่มเติม) BOI เผยนลท.ญี่ปุ่นเล็งขยายลงทุนในไทยต่อ ยังมองอุตฯยานยนต์เป็นเป้าหมายหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 23, 2015 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า การเดินทางไปครั้งนี้ได้มีหารือร่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่นใน 3 เมือง คือ โตเกียว นาโกย่า และโอซาก้า เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องเครื่องมือแพทย์ เรื่องสุขภาพแบบครบวงจร ธุรกิจด้านกรีนโปรดักส์ เรื่องพลังงานทดแทน กิจการด้านดิจิตอลอีโคโนมี รวมถึงชิ้นส่วนอากาศยาน

นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่มมากขึ้น หลังจากรัฐบาลได้เดินหน้าในส่วนโครงการอีโคคาร์ 2 ส่งผลให้มียอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกถึง 2 ล้านคันใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนที่สนใจในเรื่องของชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ทางญี่ปุ่นให้ความสนใจและสอบถามถึงขั้นตอนการจัดตั้งกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ซึ่งจะมีการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งทางไทยยืนยันว่าพร้อมจะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์การลงทุนให้เหมาะสมกับนักลงทุนมากขึ้นด้วย

นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป ส่วนเรื่องนโยบายใหม่ของบีโอไอ นักลงทุนญี่ปุ่นก็เข้าใจถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่บีโอไอและรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ ได้แก่ กิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการลงทุนเพิ่มในด้านการวิจัย พัฒนา และการฝึกอบรมบุคลากร และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลอีโคโนมี โดยเฉพาะด้านซอต์แวร์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทั้งบีโอไอและรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในไทย

สำหรับการพบปะหารือกับองค์กรเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น สมาพันธ์เศรษฐกิจคันไซ และหอการค้าและอุตสาหกรรมนาโกย่า ก็สามารถสร้างความเข้าใจต่อนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยเช่นกัน ซึ่งภาคเอกชนญี่ปุ่นก็แสดงความสนใจต่อนโยบายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าในภูมิภาคอย่างมาก และต้องการให้มีการชี้แจงในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านนี้

นอกจากนี้ การพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านยานยนต์ของญี่ปุ่นและมีบริษัทมากกว่า 280 รายเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้วนั้น ได้รับคำยืนยันว่าประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของบริษัทจากจังหวัดไอจิ และผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิก็มีแผนการนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางมาขยายความร่วมมือทางธุรกิจกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี

ส่วนการชักชวนกิจการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอจะเน้นการให้บริการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ผ่านหน่วยงานในสังกัด เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) ของบีโอไอ เพื่อสนับสนุนให้การลงทุนของเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในไทยสามารถดำเนินการได้ราบรื่น โดยจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเอสเอ็มอีญี่ปุ่นมีศักยภาพในด้านการผลิต ขณะที่ผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยจะช่วยด้านการบริหารจัดการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ