เครือข่ายปชช.ยื่นข้อเสนอแนะแก้กม.ปิโตรเลียม ย้ำระบบ PSC เหมาะกว่าสัมปทาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2015 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) เข้ายื่นหนังสือต่อนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พิจารณาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยเร่งด่วน

"การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมโดยเร็วจะช่วยทำให้การปฏิรูปพลังงานของประเทศมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และยังช่วยสนับสนุนให้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อันจะทำให้เกิดผลผูกพันในข้อสัญญาที่ไม่อาจแก้ไขได้ยาวนานถึง 39 ปีตามอายุสัญญาสัมปทาน"เครือข่ายประชาชนฯ ระบุในเอกสารเผยแพร่

ทั้งนี้ การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยดำเนินการตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งตลอด 44 ปีที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎหมายหลายครั้ง แต่ยังคงใช้ระบบสัญญาแบบสัมปทานเหมือนเดิม ไม่สามารถใช้ระบบสัญญาแบบอื่น เช่น ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญารับจ้างบริการได้ เพราะการแก้ไขกฎหมายที่ผ่านมาอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้ดึงดูดความสนใจและสร้างความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนของบริษัทน้ำมันระหว่างประเทศในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทาน

ระบบสัมปทานของไทยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับที่เป็นตัวเงิน คือ ค่าภาคหลวง ภาษี และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเป็นหลักมากกว่าผลประโยชน์ที่สำคัญด้านอื่น โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นเจ้าของของรัฐในปิโตรเลียมที่ผลิตได้และรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายปิโตรเลียม ซึ่ง ปิโตรเลียมที่ผลิตได้จะตกเป็นของผู้รับสัมปทานทั้งหมด เมื่อประชาชนหรือรัฐต้องการใช้ประโยชน์จะต้องจ่ายเงินซื้อกลับมาในราคาอิงราคาตลาดโลก จึงทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์หรือความคุ้มครองในด้านราคาพลังงานจากระบบสัมปทานแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ระบบสัมปทานของไทยให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยในผลประโยชน์อื่นๆ เช่น การมีสิทธิในข้อมูลปริมาณปิโตรเลียมที่แท้จริง หรือการมีส่วนร่วมของรัฐในการสำรวจและขุดเจาะผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินที่รัฐได้รับเป็นอย่างมาก ผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินเหล่านี้จะได้รับจากระบบอื่นที่ไม่ใช่ระบบสัมปทาน เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิตที่หลายประเทศในโลกใช้อยู่ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐไม่มีข้อมูลในปริมาณปิโตรเลียมเป็นของตัวเองก่อนเปิดสัมปทาน เนื่องจากรัฐไม่ได้ทำการสำรวจก่อน จึงมีข้อมูลน้อยทำให้ขาดอำนาจในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้รับ และทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถบริหารจัดการและพัฒนาระบบการให้สิทธิในการผลิตปิโตรเลียมที่ดีกับระบบสัมปทานได้ และยังไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ไม่สร้างความเป็นธรรมต่อผู้รับสัมปทานรายใหม่ เนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเก่าที่มีแปลงข้างเคียงแปลงสัมปทานที่เปิดใหม่มีความได้เปรียบรายใหม่ เพราะมีข้อมูลมากกว่า จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาดสัมปทานอยู่ในกลุ่มเดิมเท่านั้น

ระบบสัมปทานของไทย ไม่มีการรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รัฐได้รับส่วนแบ่งรายได้แบบถดถอย โดยการเก็บส่วนแบ่งรายได้ของรัฐหลังหักค่าใช้จ่ายด้วยภาษีร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ อัตราเดียว ซึ่งตรงข้ามกับระบบแบ่งปันผลผลิตของมาเลเซียที่ออกแบบส่วนแบ่งแบบขั้นบันไดตามอัตรากำไร กำไรน้อยจ่ายน้อย กำไรมากจ่ายมาก ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่า

"จากการพิจารณาถึงความไม่สอดคล้องด้านต่างๆ ของการใช้ระบบสัมปทานของไทย และข้อได้เปรียบของระบบแบ่งปันผลผลิต ดังที่กล่าวมา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับการนำมาใช้ในประเทศไทย" เครือข่ายประชาชนฯ ระบุ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตของไทยจะต้องทำการยกเลิกกฎหมายปิโตรเลียมและออกเป็นพ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยควรมีหลักประการสำคัญๆ ที่เสนอแนะต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กำหนดให้ใช้ระบบการให้สิทธิอื่นๆ นอกจากระบบแบ่งปันผลผลิตได้ด้วย มีผลตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมใหม่เป็นต้นไป ไม่ได้บังคับกับผู้รับสัมปทานรายเดิม

พร้อมทั้ง ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิในปิโตรเลียมและสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งการเก็บรักษาปิโตรเลียมไม่ว่าบนบกหรือในทะเลเป็นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(National Oil Corporation) มีบทบัญญัติให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corporation) ที่เป็นของรัฐ 100% มีบทบัญญัติให้กรรมสิทธิในปิโตรเลียมและสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งการเก็บรักษาปิโตรเลียมไม่ว่าบนบกหรือในทะเลเป็นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ทั้งนี้ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะทำหน้าที่ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการประมูล มีอำนาจควบคุมการประกอบกิจการปิโตรเลียมของเอกชนคู่สัญญา(Contractor) ให้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญา(Contractor) โดยบริษัทย่อยดังกล่าวกับเอกชนคู่สัญญา (Contractor) อยู่ในลักษณะของสัญญาร่วมดำเนินการ (joint operating agreement) และบริษัทหรือองค์กรใดที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยมีคุณสมบัติที่ขัดต่อกฎหมาย ให้มีบทลงโทษทั้งจำและปรับ

รวมทั้งมีบทบัญญัติให้จัดตั้งสภาพลังงานประชาชนและกองทุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียม เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิมีส่วนร่วมทางตรงในการกำหนดนโยบาย ผลประโยชน์ และเรื่องต่างๆของประเทศชาติที่เกี่ยวกับปิโตรเลียม ทรัพยากรพลังงาน การใช้ประโยชน์จากสิ่งดังกล่าว และการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากกิจการปิโตรเลียม

มีบทบัญญัติในการเปิดเผยข้อมูลของสัญญาและการประกอบกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการจัดการและการตรวจสอบของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีบทบัญญัติการกำหนดพื้นที่ประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยพื้นที่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องอยู่ในระยะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่การประมง และการท่องเที่ยว

อีกทั้งให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยภาษีปิโตรเลียม ปัญหาในระบบจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติต่างๆ ที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และควรพิจารณาจัดตั้งสำนักจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อเอกชนทุกรายและสร้างเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริงที่พึงได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ