รมว.คมนาคม เผยญี่ปุ่นตอบรับร่วมหารือโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ 31 มี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2015 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เผยผลประชุมเตรียมความพร้อมความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างไทย-ญี่ปุ่นว่า หลังจากได้มีการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง(MOI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น(MLIT) ในการพัฒนาความร่วมมือทั้งการปรับปรุงเส้นทางรถไฟเดิม(ขนาดราง 1 เมตร) และเส้นทางใหม่ขนาดทางมาตรฐาน(1.435 เมตร) แล้ว ญี่ปุ่นได้ตอบรับการเริ่มเจรจา โดยวันที่ 31 มีนาคมนี้ รองปลัดกระทรวง MLITของญี่ปุ่นจะเดินทางมาหารือกับกระทรวงคมนาคมใน 3 ประเด็น คือ 1.เส้นทางที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจ 2.รูปแบบความร่วมมือ และ 3.รูปแบบการลงทุน โดยวางกรอบการหารือว่าจะควรจะมีความชัดเจนและจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่ายได้ภายใน 60 วัน

โดยเส้นทางที่ไทยเสนอให้ญี่ปุ่นพิจารณา ประกอบด้วย 1.กาญจนบุรี-แหลมฉบัง(Lower East-West Corridor) ระยะทาง 574 กม. แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ระยะทาง 180 กม., กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 255 กม.และ กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 139 กม. 2.กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 680 กม. และ 3.ตาก-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม. ซึ่งไทยเห็นว่าญี่ปุ่นน่าจะสนใจเส้นทางกาญจนบุรี-แหลมฉบัง จะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากตลอดเส้นทางจะผ่านแหล่งนิคมอุตสาหกรรม

ส่วนรูปแบบความร่วมมือนั้นชัดเจนว่าจะเป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(G To G) ส่วนรูปแบบการลงทุน เบื้องต้นมี 2 รูปแบบ คือ ใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น(JICA) หรือใช้เงินลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เงินกู้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นกู้ยืมไปลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งในและต่างประเทศ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยหลังการหารือครั้งแรกทั้ง 2 ฝ่ายจะนำข้อมูลกลับไปหารือกับรัฐบาลของตัวเองเพื่อเร่งสรุปเพื่อนำไปสู่การลงนามในความร่วมมือต่อไป

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 873 กม.นั้น ในต้นเดือนเมษายนนี้ จะเดินทางไป สปป.ลาวเพื่อหารือถึงแนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างไทย-ลาว ซึ่งขณะนี้มี 5 แนวทางเลือก โดยมี 4 แนวทางที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงใหม่ ซึ่งจะต้องเวนคืนเพิ่ม และแนวทางที่ 5 จะวางแนวเส้นทางขนานไปตามทางรถไฟปัจจุบัน ซึ่งจะลดการเวนคืนและก่อสร้างสะพานคู่กับสะพานมิตรภาพเดิม ช่วยประหยัดค่าก่อสร้างมากกว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เกือบทั้งหมด ซึ่งไทยเห็นว่าแนวทางนี้มีความเหมาะสมมากที่สุด

นอกจากนี้จะหารือถึงการพัฒนาเส้นทางถนน R8, R9, R12 เส้นทางเชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพ 5( บึงกาฬ-บริคำไซ), สะพานจากอุบลราชธานี-ปากเซ โดยคาดว่าทางลาวจะเสนอขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในเรื่องเงินลงทุนผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(NEDA)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ