ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยจีนผลักดันตั้ง AIIB หวังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2015 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนตั้งแต่เมื่อปลายปี 2556 กำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจโดยมีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกแจ้งความจำนงเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และออสเตรเลีย เป็นต้น ทั้งนี้ AIIB จะประกาศรายชื่อสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งขั้นสุดท้ายในวันที่ 15 เม.ย.นี้ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการได้ภายในปลายปี 2558

ปัจจุบัน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากไม่แพ้การค้าระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการลงทุนที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนอย่างมหาศาล โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ประเมินว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงปี 2553-2563 อาจต้องใช้เงินถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเอเชียและสำหรับอาเซียนคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลการเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity) ตามแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity)

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง AIIB ภายใต้ความพยายามของจีนที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียเข้าด้วยกันผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน พลังงาน และโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งการพัฒนาเส้นทางขนส่งในเอเชียจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิด "One Belt, One Road" ของจีนในการเชื่อมต่อเอเชียกับทวีปรอบข้าง โดย AIIB จะทำหน้าที่เป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (the 21st Maritime Silk Road) อันจะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

"การที่จีนเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้ง AIIB สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของทางการในการเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งช่วยผลักดันเงินหยวนไปสู่การเป็นเงินสกุลหลักของโลก ส่งผลให้จีนทุ่มเงินลงทุนถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นเงินทุนตั้งต้นของ AIIB และตั้งเป้าจะระดมเงินทุนตั้งต้นของ AIIB เพิ่มเติมให้ได้ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะถัดไป" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในส่วนของไทยที่ปัจจุบันมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วนั้น ทำให้คาดว่าบทบาทของไทยใน AIIB ก็คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการเข้าร่วม AIIB นอกจากจะช่วยส่งเสริมจุดยืนของไทยในภูมิภาคแล้ว ไทยยังได้ประโยชน์จากการให้ความช่วยเหลือของ AIIB เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศข้างเคียงไทยอย่างเมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามที่จะทำให้ท้ายที่สุดไทยสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นๆในเอเชียได้ โดยเฉพาะจีน และอินเดียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบทบาทของจีนในธนาคารโลกและ ADB ยังนับว่ามีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับขนาด และความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้จีนยังมีทรัพยากรทางการเงินเพียงพอในการเล่นบทบาทผู้สนับสนุนหลักของ AIIB ซึ่งจะช่วยให้จีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของผลกระทบโดยรวมจากการที่มี AIIB ต่อเงินสมทบที่ธนาคารโลก และ ADB ได้รับจากประเทศสมาชิกอาจมีไม่มาก เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของธนาคารโลกและ ADB อาทิ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และแคนาดา น่าจะยังคงต้องการที่จะรักษาสถานะและสิทธิในการออกเสียงในองค์กรทั้งสองแห่งนี้ไว้ แต่สำหรับประเทศขนาดเล็กในเอเชียที่มีเงินทุนไม่มาก กอปรกับมีบทบาทในธนาคารโลก และ ADB น้อยอยู่แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้ความสำคัญและจัดสรรเงินทุนให้ AIIB มากขึ้น ซึ่งก็คงส่งผลกระทบต่อธนาคารโลก และ ADB ในกรอบจำกัด

ในระยะยาว ยังต้องจับตาการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเอเชียภายใต้ความร่วมมือของนานาประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของอาเซียนเองก็มีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) เมื่อปี 2555 เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Connectivity) ด้วยเช่นกัน และในอนาคตอาจจะเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบองค์กรระหว่างประเทศเหนือรัฐ (Supra-National Authority) มากขึ้น เนื่องจากทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อขยายการค้า และส่งเสริมการลงทุน ท้ายที่สุดคือนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในการสร้างความมั่งคั่งร่วมกันของประชาคมโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ