กรมศุลฯ ตั้งชุดขับเคลื่อนปฏิญญาเขมราฐปลอดคอรัปชั่น-แก้ระเบียบสอดคล้องข้อเท็จจริง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 24, 2015 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานในช่วงต่อไปของกรมศุลกากร ประกอบด้วย 1. ปฏิญญาเขมราฐ ในวันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันข้าราชการพลเรือน ณ ด่านศุลกากรเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้บริหารกรมศุลกากรได้ร่วมประกาศว่าตังแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรทุกคนจะเลิกรับผลประโยชน์ที่มิควรรับทั้งหลาย รวมถึงจะประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรมของข้าราชการที่ดีด้วยความโปร่งใส ปลอดจากคอรัปชั่น และจากการกระทำการทุจริตทุกประการ

ระยะต่อไปกรมศุลกากรจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการตามปฏิญญาเขมราฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มาช่วยผลักดันนโยบาย "ไม่รับ ไม่ให้" โดยคณะกรรมการฯ จะทำการประชุมเพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามปฏิญญาเขมราฐของด่านศุลกากร ท่า/ที่ตรวจปล่อยสินค้าต่างๆ พร้อมทั้งรับเรื่องร้องการกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อรายงานให้ผู้บริหารของกรมศุลกากรทราบและดำเนินการต่อไป

โครงการตามปฏิญญาเขมราฐจะทำให้กรมศุลกากรมีพันธมิตรในการช่วยตรวจสอบและติดตามความโปร่งใสและความสุจริตของเจ้าหน้าที่ของกรมฯ อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และหากมีการรายงานการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ฯ กรมศุลกากรจะได้ดำเนินการทางบริหารและทางวินัยอย่างเด็ดขาดต่อไป

2. การพิจารณาแก้ไขระเบียบกรมศุลกากรเพื่อกำหนดมูลค่าของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาโดยไม่ต้องเสียอากร เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ค่าครองชีพ ค่าของเงินบาทในปัจจุบัน และกรณีศึกษาของต่างประเทศ กรมศุลกากรจะพิจารณาศึกษาความเหมาะสมในการเพิ่มเพดานมูลค่าของติดตัวผู้โดยสารที่ไม่ต้องเสียภาษี

3. การรับชำระอากรปากระวางด้วยเดบิต (Debit Payment) และบัตรเครดิต กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถชำระอากรปากระวางด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ต้องชำระค่าอากรปากระวางแต่มีเงินสดติดตัว ไม่เพียงพอ

4. การจัดทำฐานข้อมูลด้านราคา และพิกัดศุลกากร กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการพัฒนาจัดทำฐานข้อมูลด้านราคา และพิกัดศุลกากร ซึ่งจะช่วยให้การกำหนดราคาศุลกากรและพิกัดศุลกากรเป็นธรรมและเป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

5. การแก้ไขปัญหาคดีไม้พะยูง กรมศุลกากรจะเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาไม้พะยูงของกลางจำนวนมากที่อยู่ในการเก็บรักษาโดยกรมศุลกากร

6. การปฏิรูปสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรระยะที่ 2 ประกอบด้วย การพัฒนาระบบ e-Tax Incentives ให้สามารถนำมาใช้กับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า และคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทอื่นๆ การพัฒนาระบบคำร้อง โอนย้ายสินค้าระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรให้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ของคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ขอจัดตั้ง หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้กำกับดูแล กำหนดระยะเวลาการเก็บรักษาของ และอื่นๆ จัดหาระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในการคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ

นายสมชัย กล่าวถึงผลงานของกรมศุลกากรในรอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 58 (ต.ค.57-มี.ค.58)ว่า คณะผู้บริหารกรมศุลกากรได้ดำเนินการปรับปรุงการทำงานของกรมศุลกากรในหลายๆด้าน อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี การเร่งรัดแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการและสร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้น การพิจารณาปฏิรูปสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรให้เกิดความรัดกุมและประโยชน์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงการดำเนินการกับคดีสำคัญๆ ที่ยังคงค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องการแก้ปัญหาคอรัปชั่นและนำหลักธรรมาภิบาลมาบริหารราชการของกรมศุลกากรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการจัดเก็บรายได้ จัดเก็บภาษีอากรรวมทุกประเภท จำนวน 256,595 ล้านบาท เป็นรายได้ศุลกากร มีสัดส่วนร้อยละ 23 ของรายได้ทั้งหมด และอีกร้อยละ 77 เป็นรายได้จัดเก็บให้แก่หน่วยงานอื่น ประกอบด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 142,936 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วร้อยละ 8.28 ภาษีสรรพสามิต จำนวน 36,395 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ร้อยละ 3.76 และภาษีเพื่อมหาดไทย จำนวน 18,277 ล้านบาท ต่ำช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ร้อยละ 8 โดยจัดเก็บรายได้ศุลกากร จำนวน 58,987 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ (61,500 ล้านบาท) จำนวน 2,513 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกับปีที่แล้วร้อยละ 0.28 กรมศุลกากรคาดว่าตลอดปีงบประมาณ 2558 จะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ประมาณ 117,825 ล้านบาทต่ำกว่าเป้าหมาย (122,400 ล้านบาท) 4,575 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.73

สาเหตุการจัดเก็บรายได้กรมศุลกากรต่ำกว่าเป้าหมายมาจาก 2 สาเหตุ คือ สภาพเศรษฐกิจและการนำเข้าที่ไม่ดีเท่ากับที่ได้ประมาณการไว้เมื่อตอนจัดทำประมาณการรายได้ และส่วนสูญเสียจากการปรับโครงสร้างอัตราอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 11 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ส่งผลกระทบต่ออัตราภาษีศุลกากรลดลง ทำให้คาดว่าการจัดเก็บรายได้จะหายไปในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,575 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรได้พยายามเพิ่มมาตรการในการจัดเก็บรายได้เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดไป โดยได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี อาทิ การเพิ่มมาตรการในการตรวจปล่อยสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการหลีกเลี่ยงอากร การบริหารจัดการระบบงานคดี การจำหน่ายของกลาง/ของตกค้าง และการตรวจสอบการเสียภาษีอากรให้ผู้ประกอบการด้วยวิธีสมัครใจ เป็นต้น

ส่วนการดำเนินการกับกรณีรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปสูญหาย กรมศุลกากรได้ดำเนินการสำรวจจำนวนรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปที่จัดเก็บอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์/เขตปลอดอากร/เขตประกอบการค้าเสรี (นิคมอุตสาหกรรม) พบว่ามีรถสูญหายจากสถานที่จัดเก็บดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้น 227 คัน โดยพบว่าส่วนใหญ่ (จำนวน 178 คัน) มีการยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรไว้แล้ว อีกส่วนเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ติดตามจับกุมมาได้แล้ว 8 คัน และที่เหลืออีก 41 คัน อยู่ระหว่างติดตามจับกุม

ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้มีการดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ผู้นำเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากร และเจ้าของคลังสินค้าทัณฑ์บน/เขตปลอดอากร/เขตประกอบการค้าเสรีแล้ว และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหารถยนต์หายจากคลังสินค้าฯอีก กรมศุลกากรเห็นควรให้กำหนดมาตรการป้องกันควบคุมการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยได้เพิ่มความรัดกุมในการควบคุมทางศุลกากร พร้อมกับได้นำระบบเทคโนโลยีสำหรับติดตามความเคลื่อนของรถยนต์ที่เรียกว่า e-Lock มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ