รมว พลังงานคาดเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21-ปรับโครงสร้าง NGV ใน 6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 24, 2015 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน คาดว่า การออกประกาศเชิญชวนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ครั้งใหม่ และการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ โดยเบื้องต้นเชื่อว่าการประกาศเชิญชวนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมน่าจะทำได้ภายในเดือนมิ.ย. หลังจากที่นายกรัฐมนตรีระบุให้เลื่อนออกไปจากเดิมในเดือน ก.พ.58 เป็นเวลา 3 เดือน

"6 เดือนที่ผ่านมาไม่รู้ว่าประชาชนจะให้ผ่านหรือไม่ แต่ที่เราเห็นว่าสอบไม่ผ่านคือการสำรวจรอบที่ 21 ที่เราประกาศในเดือนตุลาคม 57 และปิดรับไปในเดือนกุมภาฯ 58 หลังจากนั้นจะพิจารณาขั้นตอนและประกาศผล เมื่อเลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ออกไป 3 เดือน...ภายในไม่น่าจะเกินเดือนมิถุนายนนี้ก็น่าจะดำเนินการเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้"นายณรงค์ชัย กล่าวในการแถลงผลงานของกระทรวงพลังงานในรอบ 6 เดือนแรกในเช้าวันนี้

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความเหมาะสม โดยคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนได้ใหม่ภายใน 3 เดือนข้างหน้าตามที่นายกรัฐมนตรีเคยระบุไว้ หากภาครัฐยังคงชะลอออกไปก็จะทำให้ไม่สามารถยืนยันปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ซึ่งมีราคาสูงเข้ามามากขึ้น รวมถึงทำให้มีความจำเป็นต้องขยายการสร้างคลัง LNG เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีศักยภาพรองรับที่ 5 ล้านตัน/ปี เป็น 10 ล้านตัน/ปี และ 15 ล้านตัน/ปีในอนาคต

ส่วนการปรับราคา NGV ของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้จะสามารถขยับราคาขึ้นมาอยู่ที่ 13 บาท/กิโลกรัม แต่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับราว 15 บาท/กิโลกรัม โดยต้นทุน NGV ลดลงจากเดิมตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก ทำให้คาดว่าการทยอยปรับราคา NGV ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจะมีขึ้นได้ในช่วง 6 เดือนจากนี้ หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลสามารถดำเนินการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้เรียบร้อยแล้วทำให้การนำเข้า LPG ลดลงจากปกติเฉลี่ย 1.69 แสนตัน/เดือน เหลือระดับ 9.5 หมื่นตันในเดือนมี.ค. ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้กว่า 1 พันล้านบาท/เดือน

สำหรับนโยบายในด้านการผลิตไฟฟ้านั้น รัฐบาลเตรียมพิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP)ปี 58-79 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในวันที่ 14 พ.ค.โดยเป็นแผนที่จะมุ่งเน้นการประหยัดพลังงานไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆให้มีความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ส่วนแผนแม่บทก๊าซธรรมชาติ 5 ปีที่จะมีการสร้างท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 5 และสร้างคลัง LNG แห่งใหม่นั้น คงจะยังไม่สามารถนำเข้า กพช.รอบนี้ได้ทัน

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีแผนจะซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาร์และลาวเพิ่มขึ้น โดยในเดือนพ.ค.นี้จะเดินทางไปลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู)ใน 3 สัญญา ได้แก่ การซื้อก๊าซฯจากเมียนมาร์ แต่ไม่ได้มีการระบุถึงกรอบปริมาณในการรับซื้อ แต่จะเป็นสัญญาเบื้องต้นที่ระบุว่าหากเมียนมาร์มีปริมาณก๊าซฯเหลือเพียงพออาจจะมีการขายกลับมาไทยเพิ่มเติมจากแหล่งปัจจุบัน, การซื้อไฟฟ้าจากเมียนมาร์ หลังเอ็มโอยูฉบับเดิมที่ไทยจะซื้อไฟฟ้าจากเมียนมาร์ 3 พันเมกะวัตต์หมดอายุลงไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจะซื้อไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ และสัญญาความร่วมมือทั่วไประหว่างไทยและเมียนมาร์

ด้านการซื้อไฟฟ้าจากลาวก็จะขยายเอ็มโอยูซื้อไฟฟ้าเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากเดิมที่รับซื้อ 7 พันเมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะลงนามได้ภายในปีนี้เช่นกัน

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีเอ็มโอยูซื้อไฟฟ้าจากลาว 7 พันเมกะวัตต์ โดยมีการเซ็นสัญญาซื้อไฟแล้ว 5.2 พันเมกะวัตต์ แต่ก็จะมีการขยายการรับซื้อเพิ่มเติม โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะหง ขนาด 1 พันเมกะวัตต์ ขณะที่โครงการในเมียนมาร์ จะให้ความสำคัญกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน ,โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเชียงตุง และการพัฒนาโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ของภาคเอกชน เป็นต้น

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ภารกิจในระยะต่อไปของกระทรวงพลังงาน จะทำการบริหารสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงในปี 65 และ 66 โดยคาดว่าจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะบริหารสัมปทานดังกล่าวได้อย่างไรภายในปีนี้ ,การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ซึ่งเรื่องดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบเป็นหลัก ส่วนกระทรวงพลังงานจะเข้าร่วมเป็นกรรมการ, การเปิดให้ยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ตลอดจนการเร่งรัดออกกฎกติกาเพื่อให้การรับซื้อพลังงานทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ,การขยายความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ,การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในภาพรวม เพื่อให้การจัดสรรมีความเป็นธรรมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจ และการดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการให้เสร็จสมบูรณ์ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ