พลังงานจัดรับฟังความเห็นแผน PDP2015 รอบสุดท้าย,คาดเริ่มใช้ในพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 28, 2015 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพลังงาน จัดสัมนารับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) รอบสุดท้าย ก่อนจะนำไปสรุปแผนเสนอต่อกพช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป โดยคาดว่าแผน PDP 2015 จะสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ในเดือนพ.ค.นี้
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจัดระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP ในวันนี้เป็นรอบสุดท้าย เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในเดือนพ.ค.นี้ โดยปริมาณสำรองไฟฟ้าจะสูงมากในช่วงปี 65-66 มาอยู่ระดับใกล้เคียง 40% เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกว่าคาด แต่รัฐบาลคงจะไม่สามารถยกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ที่ลงนามกับภาคเอกชนไปแล้ว ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าของกลุ่มกัลฟ์ฯ ที่เป็นผู้ได้รับสิทธิทำโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) 4 โรง รวม 5 พันเมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 62-65
"ที่ผ่านมาจะมีการพิจารณาทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากกัลฟ์ แต่ยอมรับว่าทำได้ยากเพราะเป็นสัญญากับเอกชนที่รัฐลงนามไปแล้ว"นายอารีพงศ์ กล่าว

ด้านนายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการผู้ร่วมจัดทำแผน PDP กล่าวว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงในช่วงปีดังกล่าว เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเกินคาด ประกอบกับสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นสัญญาที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดปัญหา และควรต้องทบทวนสัญญาในอนาคต เมื่อเทียบกับในอดีตการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียว ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้

วันนี้ กระทรวงพลังงานจัดรับฟังความคิดเห็น PDP 2015 รอบสุดท้ายก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากกพช.ในวันที่ 14 พ.ค. โดยตามแผนดังกล่าวคำนวณจากสมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) เฉลี่ย 3.94% ต่อปี โดยแผนนี้จัดทำควบคู่ไปกับแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEDP) ที่กำหนดว่าใน 20 ปีจะลดการใช้พลังงาน 1 หมื่นเมกะวัตต์ หรือประมาณ 89,672 ล้านหน่วย และแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) สัดส่วน 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดหรือมีกำลังผลิตรวม 19,635 เมกะวัตต์

ตามแผน PDP ประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปลายแผนหรือจะมีกำลังผลิตกว่า 70,410 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้มากที่สุด โดยการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงจะลดจากปี 2557 ที่ 64% เหลือ 30-40% , ถ่านหินเพิ่มจาก 20% เป็น 20-25% ,พลังน้ำจากต่างประเทศเพิ่มจาก 7% เป็น 15-20% ,พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 8% เป็น 15-20% และจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 0-5% ซึ่งตามแผนคาดว่าค่าไฟฟ้าในปี 79 จะ อยู่ที่ 5.50. บาท/หน่วย

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบในปี 2568-2579 จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง กำลังการผลิต 7,365 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 15 โรง กำลังการผลิตรวม 17,478 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง กำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส. 5 โรง รวมกำลงการผลิต 1,250 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น 4,052 เมกะวัตต์,พลังงานหมุนเวียน. 12,205. เมกะวัตต์ ,พลังน้ำสูบกลับ 2,101 เมกะวัตต์ และซื้อต่างประเทศ 11,016 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตใหม่ทั้งระบบ 57,467 เมกะวัตต์ ขณะที่กำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ไว้ไม่ต่ำกว่า 15% พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทน และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ พบว่าผู้เข้าร่วมมีความเห็นมีหลากหลาย เช่น สำรองไฟฟ้าที่สูงขึ้นกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า ต้องการให้เน้นเรื่องแผนประสิทธิภาพ มีผู้คัดค้านโรงไฟฟฟ้าถ่านหิน การเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเพราะหวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอให้เอกชนมีบทบาทสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ