(เพิ่มเติม) สศค.เผย GDP Q1/58 โตราว 3.2% สัญญาณดีขึ้นจากการใช้จ่ายในประเทศหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เผยภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือน มี.ค.58 และช่วงไตรมาส 1/58 ว่า มีสัญญาณดีขึ้นจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงหดตัว สำหรับเศรษฐกิจไทยในด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว แม้ภาคเกษตรกรรมยังคงส่งสัญญาณหดตัว ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ทั้งนี้ สศค.ระบุว่าไตรมาส 1/58 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ราวร้อยละ 3.2 ขณะที่การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 4.7 แต่การใช้จ่ายในประเทศเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ทำให้มีสัญญาณที่ดีขึ้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในเดือน มี.ค.58 และไตรมาสที่ 1 ปี 58 การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ในเดือนมีนาคมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 20.1 ต่อปี ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อไตรมาส สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 18.1 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวที่ร้อยละ 10.9 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 9.7 ต่อไตรมาส ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -12.5 ต่อปี

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 67.1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน มี.ค.58 ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อไตรมาส

การลงทุนภาคเอกชนในเดือน มี.ค.58 และไตรมาสที่ 1 ปี 58 ยังคงทรงตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือน มี.ค.58 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 ต่อเดือน โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี สำหรับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มี.ค.58 ขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อไตรมาส ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค.58 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -10.6 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -11.3 ต่อปีและเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าหดตัวร้อยละ -7.0 ต่อไตรมาสและปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือน มี.ค.58 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าหดตัวร้อยละ -0.4 ต่อไตรมาส

สถานการณ์ด้านการคลังในเดือน มี.ค.58 และไตรมาสที่ 1 ปี 58(ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 58)สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือน มี.ค.58 จำนวน -81.0 พันล้านบาท และทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขาดดุล -144.7 พันล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้สุทธิ(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.58 มีจำนวนทั้งสิ้น 157.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 รายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวน 466.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อปีขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มี.ค.58 เบิกจ่ายได้จำนวน 251.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 52.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 617.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี

สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือน มี.ค.58 และไตรมาสที่ 1 ปี 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยในเดือน มี.ค.58 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงในเดือนมีนาคมมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้า สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมีนาคม ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และฮ่องกง ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 การส่งออกสินค้าของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -4.7 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า หดตัวร้อยละ -6.2 ต่อไตรมาส

ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวต่างชาติสามารถขยายตัวในระดับสูงอันเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลเบื้องต้นในเดือน มี.ค.58 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2.55 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 25.5 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว ร้อยละ 23.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อไตรมาส และในช่วง 18 วันแรกของเดือน เม.ย.58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.43 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 21.6 ต่อปี สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มี.ค.58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.3 ต่อปี ตามการหดตัวของผลผลิต ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ -5.8 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 ต่อไตรมาส ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 5 เดือนจากความกังวลต่อสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และคำสั่งซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอโดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคเกษตร จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค.58 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.78 แสนคน ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกเป็นสำคัญ มาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน มี.ค.58 และไตรมาสที่ 1 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับสำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 156.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ