เงินบาทปิด 32.96/98 ผลพวงกนง.ลดดอกเบี้ย คาดกรอบสัปดาห์หน้า 32.80-33.20

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2015 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.96/98 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 32.88/95 บาท/ดอลลาร์ เป็นผลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ตลอดจนการประกาศมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเพิ่มเติม ระหว่างวันเงินบาททำโลว์ที่ระดับ 32.77 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 32.98 บาท/ดอลลาร์
"ระหว่างวันเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ 32.83-32.87(บาท/ดอลลาร์) แต่หลังประกาศมาตรการฯ ออกมา ตลาดเห็นว่ากฎเบาไปก็มีแรงซื้อดอลลาร์เข้ามามาก" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า สัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.20 บาท/ดอลลาร์

"บาทมีโอกาสวิ่งต่อไปอีก เพราะเพิ่งผ่านมาแค่วันเดียว" นักบริหารเงิน กล่าว

สำหรับ THAI BAHT SPOT RATE FIXING ล่าสุดปรับมาที่ 32.9300 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 118.86 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 118.70 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1210 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1103/1147 ดอลลาร์/ยูโร
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย วันที่ 24 เม.ย.58 อยู่ที่
160.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 17 เม.ย.58 ที่ 158.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิของไทย วันที่ 24 เม.ย.58 อยู่ที่ 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันที่ 17 เม.ย.58 อยู่ที่ 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินบาทวันที่ 27 เม.ย.58 อยู่ที่ 5,199.5 พันล้านบาท จาก 5,147.4 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 17 เม.ย.58
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมีนาคม 2558 ดัชนีฯ ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 49.4 มาอยู่ที่ระดับ 52.4 ตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งในภาคอุตสาหกรรมและมิใช่อุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านการผลิตที่ปรับดีขึ้นมากจากการเร่งผลิตก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้าน ผลประกอบการปรับดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนของผู้ประกอบการที่เห็นว่าความต้องการจากตลาดในประเทศต่าเป็นข้อจ่ากัดส่าคัญอันดับ 1 ในการด่าเนินธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแอ
  • นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2558 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยครัวเรือนชะลอการบริโภค ธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงในเกือบทุกหมวด โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 จึงยังอ่อนแอ แม้การใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐจะมีมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวดี

ทั้งนี้ ธปท. คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ไป โดยเห็นได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 58 ที่สามารถเบิกจ่ายได้ 33% และคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 58 จะสามารถเบิกจ่ายได้ถึง 88% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้นก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้

  • นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ระบุการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวานนี้ แม้อาจจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะขณะนี้สินค้าเกือบทุกอย่างทั่วโลกมีส่วนเกินความต้องการ ทำให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเพิ่มส่งออก
  • นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผย ธปท.ประกาศแนวทางผ่อนคลายเพิ่มเติมภายใต้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก รมว.คลัง แล้ว และจะทยอยออกประกาศและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องในช่วงปี 58-60 นอกจากนี้ ธปท.เห็นควรผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ได้แก่ การทำธุรกรรมของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ และการประกอบธุรกิจของศูนย์บริหารเงิน
  • นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ในภาพรวมเดือน มี.ค.58 อยู่ที่ 175.29 หดตัวลดลง 1.8% จาก 178.52 ในเดือน มี.ค.57 เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ประกอบกับผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หยุดซ่อมเครื่องจักร แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสที่ 1/2558 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน มี.ค.58 อยู่ที่ 63.59 ลดลงจาก 64.47 ในเดือน มี.ค.57
  • ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ออกแถลงการณ์หลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) เสร็จสิ้นลงเมื่อคืนนี้ว่า ข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือน มี.ค.58 บ่งชี้ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอลงในช่วงฤดูหนาว ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงปัจจัยชั่วคราว ภาวะการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นปานกลางและอัตราว่างงานยังคงทรงตัว ปัจจัยชี้วัดต่างๆเกี่ยวกับตลาดแรงงานบ่งชี้ว่าภาวะการใช้ประโยชน์ในระดับต่ำเกินไปจากทรัพยากรด้านแรงงานนั้น แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเติบโตด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวลง รายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการร่วงลงของราคาพลังงานในช่วงก่อนหน้านี้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับสูง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจอ่อนแรงลง ขณะที่การฟื้นตัวในภาคที่อยู่อาศัยยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้าและการส่งออกปรับตัวลง เงินเฟ้อได้ปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวของคณะกรรมการต่อไป ซึ่งบ่งชี้ถึงการร่วงลงของราคาพลังงานในช่วงก่อนหน้านี้และการปรับตัวลงของราคานำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่พลังงาน มาตรวัดการชดเชยเงินเฟ้อที่อิงกับตลาดยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มาตรวัดการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวที่อิงกับผลสำรวจยังคงทรงตัว
  • สำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน(SAFE) เผยยอดขาดดุลการค้าด้านบริการของจีนในเดือน มี.ค.58 เพิ่มขึ้นแตะ 9.21 หมื่นล้านหยวนหรือราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 7.67 หมื่นล้านหยวนในเดือน ก.พ.58 ขณะเดียวกันจีนมียอดขาดดุลด้านการซื้อขายสินค้า 1.9 พันล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค.58 หลังจากเกินดุล 5.97 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ก.พ.58
  • สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เผยยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศญี่ปุ่นช่วงไตรมาสแรกปี 2558 พุ่งขึ้นถึง 64.4% แตะ 7.06 แสนล้านเยน หรือ 5.95 พันล้านดอลลาร์
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ปรับลดการประเมินการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีงบประมาณ 2557 เป็น -0.9% ขณะที่พร้อมกับคงการประเมินทางเศรษฐกิจที่ระบุว่ามีการฟื้นตัวปานกลาง และปรับลดแนวโน้มเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.59 โดยคาดว่า ดัชนีราคาผุ้บริโภค(CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมผลกระทบของการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว จะขยายตัว 0.8% จากปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ม.ค.58 ที่ระดับ 1.0% พร้อมกันนี้ BOJ ยังได้เลื่อนระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ออกไปเป็นช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2559
  • นายบัมบัง โบรด์โจเนโกโร รมว.คลัง อินโดนีเซีย คาดเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงในไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ส่งออกของอินโดนีเซีย แต่รัฐบาลคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) จะขยายตัวรวดเร็วขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากงบประมาณการใช้จ่ายมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น ทั้งนี้คาดว่า GDP ไตรมาสแรกจะขยายตัวต่ำกว่า 5% ลดลงจากระดับ 5.01% ในไตรมาสก่อนหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ