(เพิ่มเติม) ธปท.เผย Q1/58 สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตชะลอ-NPL เพิ่มจากศก.ฟื้นช้า เชื่อ H2 ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2015 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2558 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าที่คาดส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อด้อยลงบ้าง อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองและเงินกองทุนในระดับสูง ขณะที่ผลการดำเนินงานยังมีกำไร

เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าที่คาด กอปรกับความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนชะลอตัวจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 68.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยชะลอตัวมากในสินเชื่อภาคการพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อภาคสาธารณูปโภคโดยเฉพาะโรงไฟฟ้า และการขนส่งสินค้าและสถานที่เก็บสินค้ายังขยายตัวได้ดีในอัตราสูงต่อเนื่อง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 1.0 จากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อน จากการที่บริษัทขนาดใหญ่หันไประดมทุนผ่านการออกตราสารแทนการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อ SME เริ่มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.5 หลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 สินเชื่ออุปโภคบริโภค(ร้อยละ 31.3ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.6 โดยยังขยายตัวในสินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยลดลงร้อยละ 4.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน

คุณภาพสินเชื่อโดยรวมด้อยลงจากสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้าง 298.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 21.1 พันล้านบาท เทียบกับยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด 13.0 ล้านล้านบาท สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.29 จากร้อยละ 2.15 ในไตรมาสก่อน ขณะที่คุณภาพสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัว สินเชื่อธุรกิจ SME ขนาดเล็กและสินเชื่ออุปโภคบริโภคมี NPL เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) เพิ่มขึ้นเป็น 366.2 พันล้านบาท ในสินเชื่อหลายประเภท สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมจึงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.61 เป็นร้อยละ 2.81 อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการดูแลและติดตามบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 165.9

ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 52.5 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อน จากการตีราคาตราสารทางการเงินและการขายตราสารหนี้ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,025.1 พันล้านบาท ลดลง 18.1 พันล้านบาทจากสิ้นปีก่อน จากการไถ่ถอนและทยอยลดนับตราสารหนี้ Tier-2 ที่ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ Basel III ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 16.6 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 ratio) ทรงตัวที่ร้อยละ 13.7

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า แนวโน้ม NPLไตรมาส 2 ของสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวและยังไม่น่าลดลงในระยะสั้น แต่ทั้งนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากสถาบันการเงินมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,025.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 5.25 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าการขยายตัวสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้เป็นไปตามคาดการณ์ 7% ภายใต้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ปี 2558 ที่ 3.8 - 4% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงเป้าการปล่อยสินเชื่อ และมองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยมองว่าจะมาจากการเติบโตของสินเชื่อทุกกลุ่มที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างน้อย 10% ในทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ที่ยังมีแนวโน้มลดลง ส่วนแนวโน้มสินเชื่อรายใหญ่คาดว่าขยายตัวต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ