พาณิชย์เผยเดินหน้าโครงการลดภาระค่าครองชีพ-ดูแลสินค้าเกษตร เพื่อบรรเทาให้กับภาระปชช.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2015 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงได้ดำเนินการในเรื่องการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบคือเรื่องการกินอยู่ โดยได้ดำเนินการไปแล้วหลายโครงการในช่วงที่ผ่านมาและที่กำลังดำเนินการคือ (1) โครงการ "ธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชน" จัดงานจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาประหยัด (ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป ร้อยละ 20-40) ทั่วประเทศ รวม 59 ครั้ง มูลค่าการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.9 ล้านบาท

(2) โครงการร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จเพื่อคืนความสุขทุกจานให้ประชาชน (ถูก สะอาด ดี อร่อย) รวมทั้งสิ้น 2,691 ร้านค้า โดยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,525 ร้านค้า ส่วนภูมิภาค จำนวน 1,166 ร้านค้า สามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในการซื้ออาหารปรุงสำเร็จได้ประมาณ ร้อยละ 10-35 ของเงินค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารต่อวันทั่วประเทศ หรือประมาณวันละ 2.3 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 461.07 ล้านบาท

(3) การลดราคาจำหน่ายสินค้า/อาหารปรุงสำเร็จ โดยขอความร่วมมือห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ได้แก่ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ มาบุญครอง บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส แม็คโคร และท็อปส์ จัดโซนจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ 10 เมนู ในราคาจาน/ชามละ 30-40 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2558

สำหรับสิ่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือการจัดงานลดค่าครองชีพอีก 38 ครั้ง รวมทั้งการจัดสายออกตรวจห้างค้าปลีกค้าส่งเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบการให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้ร้านอาหารต่างๆเข้าร่วมโครงการ “หนูณิชย์...พาชิม" เพื่อให้มีร้านอาหารเพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นทางเลือกมาช่วยลดภาระค่าครองชีพประจำวันของประชาชน

นางดวงกมล กล่าวว่า ในการดูแลราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในจะได้จัดให้มีตลาดนัดข้าวเปลือก ปี 2557/58 ในเดือนพฤษภาคม - กันยายน จำนวน 22 ครั้ง ใน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก กาฬสินธุ์ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ นครนายก ลพบุรี สมุทรปราการ อ่างทอง พัทลุง และสงขลา

ด้านสถานการณ์สินค้าอาหารสดส่วนใหญ่ราคาทรงตัว ยกเว้นสุกร เนื้อแดง - สะโพก ราคากิโลกรัมละ 130 - 135 บาท สูงขึ้นร้อยละ 5.16 เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการที่โรงเรียนต่างๆ เข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียน กะหล่ำปลี และคะน้า ราคาสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 18 – 20 บาท และ 25 – 28 บาท ราคาสูงขึ้นร้อยละ 12.77 – 15.15 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้ผักกะหล่ำปลีเจริญเติบโตช้า

ส่วนคะน้าช่วงนี้มีปริมาณลดลง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นแต่มะนาว ราคาลดลงแล้วร้อยละ 13.33 เนื่องจากผลผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น สำหรับน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มราคาทรงตัว ไก่สดทั้งตัว(รวมเครื่องใน) กิโลกรัมละ 60 - 65 บาท ราคายังทรงตัวรวมทั้งไข่ไก่ ฟองละ 2.90 บาท เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

นางดวงกมล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มอาหารสดในสัปดาห์หน้า คาดว่าสุกร เนื้อไก่ ไข่ไก่ น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม ราคาทรงตัว เนื่องจากผลผลิตเพียงพอกับความต้องการบริโภค แต่ถ้าเทียบสัปดาห์นี้กับช่วงระยะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่าสินค้าอาหารสด ไก่สดทั้งตัว ราคาทรงตัว ส่วนกะหล่ำปลี สุกร ไข่ไก่ ผักกาดขาวปลี และคะน้า ราคาลดลงร้อยละ 9.52 – 20.90 น้ำมันถั่วเหลือง ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1 แต่น้ำมันปาล์ม ราคาลดลงร้อยละ 2.38

หากผู้บริโภคพบเจอร้านค้าไม่ปิดป้ายแสดงราคา หรือกักตุน และฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับกรมการค้าภายในให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบราคา การปิดป้ายแสดงราคา อย่างต่อเนื่อง ตามตลาดสด ร้านอาหาร ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ร้านค้าก๊าซ ปิโตรเลียมเหลว ร้านค้าทั่วไป สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ เป็นต้น เพื่อป้องกันการกักตุนและฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรมและตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคา รวมทั้งตรวจสอบตามคำร้องเรียนของประชาชน ผ่านสายด่วน 1569 ของกรมการค้าภายใน และจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่รับเรื่องร้องเรียน

จากการออกตรวจที่ผ่านมา 3,739 ราย พบว่ากระทำผิด 8 ราย ในเรื่องไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า และไม่แสดงข้อความหรือรายการที่แสดงควบคู่กับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการเป็นภาษาไทย และจำหน่ายไม่ตรงกับราคาที่แสดง ดำเนินการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 25,600 บาท นอกจากนี้ยังให้มีการตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดและสินค้าหีบห่อ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้า ผลการตรวจสอบ รวมทั้งสิ้น 61,291 เครื่อง/หีบห่อ พบผิดจำนวน 516 เครื่อง ได้ดำเนินการยึดและผูกบัตรห้ามใช้

นางดวงกมล กล่าวในตอนท้ายว่า แม้กระทรวงพาณิชย์จะมีหน้าที่ดูแลเรื่องค่าครองชีพและการกินอยู่ แต่ค่าครองชีพในชีวิตประจำวันที่ใช้วัดดัชนีราคาผู้บริโภคประกอบด้วยหลายอย่าง โดยในเดือนเมษายน 2558 ใน 100% หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์(กระทรวงพาณิชย์ดูแลเป็นส่วนใหญ่) เช่น อาหารปรุงสำเร็จ มีสัดส่วน 35.50% หมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วน 65.50% เช่น ค่าน้ำมัน ค่าโดยสาร ค่าเช่า-ผ่อนบ้าน ค่าการสื่อสาร ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบเช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข จึงไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์หน่วยงานเดียวที่ดูแลค่าครองชีพประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ