โบรกฯ คาด กนง.10 มิ.ย.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% กดบาทอ่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2015 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ทีมเศรษฐศาสตร์ของบริษัทคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 25bps ในการประชุมวันที่ 10 มิ.ย.หลังจาก กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งรวม 50bps ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาลงมาเหลืออยู่ที่ 1.50% เนื่องจาก 4 เหตุผลสำคัญ 1.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังแข็งค่าไป 2.ดัชนีภาคการผลิตที่ยังอ่อนแอต่อเนื่อง 3.ยังคงมีพื้นที่ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากสถานการณ์เงินฝืดในขณะนี้ และ 4.การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ

โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงราว 2.1% ในเดือน พ.ค.หากเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากลดลง 0.9% ในเดือนเม.ย.ตามนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยและมาตรการผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีแล้วพบว่าค่าเงินได้อ่อนตัวลงราว 0.3% และด้วยตัวชี้ทางเศรษฐกิจแสดงแนวโน้มที่ยังเปราะบาง รวมทั้งอัตราค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าหากเทียบกับภูมิภาคที่ราว 33.50-33.80 บาท/USD

"เราจึงคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25bps ในการประชุม กนง.ในเดือนมิถุนายนนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% โดยค่าเงิน SGD, IDR, MYR ได้อ่อนตัวลง 2.3%, 6.86%, 5.74% หากเทียบกับค่าเงิน USD ตามลำดับ"

ส่วนตัวเลขการส่งออกอุตสาหกรรมยังคงลดลงต่อเนื่องราว 5.3% ในเดือน เม.ย.58 จากเดิม -1.7% ในเดือน มี.ค. โดยอ่อนแอลงในทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีสัดส่วนส่งออกมาก อาทิ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ โทรทัศน์ และ hard disk ในขณะที่ กลุ่มยานยนต์ยังชะลอตัวส่วนการผลิตเหล็กลดลง ฉุดให้อัตราการผลิตลดลงเป็น 54.0% ในเดือนเม.ย.ต่ำที่สุดในรอบกว่า 3 ปี อัตราการผลิตในประเทศยังคงลดลงจาก 67.5% เป็น 60.8% ส่วนอัตราการผลิตภาคการส่งออกลดลง 9ppts เป็น 40.4%

พร้อมกันนี้มองว่ายังมีพื้นที่ในการปรับลดดอกเบี้ยจากสถานการณ์เงินฝืด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(headline inflation) ลดลง 1.3% ในเดือน พ.ค.ต่ำกว่าคาดการณ์ consensus ที่ -1.0% และลดลงมากกว่าเดือน เม.ย.ที่ -1.0% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดลงเดือนที่ห้าติดต่อกัน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ชะลอตัวลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือนที่ราว +0.9% ในเดือน เม.ย.จากเดิม +1.0% ในเดือน มี.ค.ทั้งนี้ เรายังคงประเมินอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 58 ที่ 0.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ +1.0% และปีที่ผ่านมาที่ +1.9%

สำหรับความเป็นไปได้ในการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐนั้น คาดว่าธปท.จะมีการปรับลดอัตราดดกเบี้ยลงราว 25bps ในเดือนมิถุนายน ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งจะเป็นผลลบต่อ SET Index เนื่องจากแสดงให้สภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งปัจจุบันคาดการณ์ EPS ของ consensus สำหรับปี 58 อยู่ที่ 96-100.07 บาท ซึ่งหากอิงจาก EPS ที่ 96.00 บาท ดัชนีจะซื้อขายด้วย forward EPS ที่ 15.3x โดยแนวรับสองจุดอยู่ที่ 1400 จุด (forward PER ที่ 14.5x) และ 1300 จุด (forward PER 13.5x)

บล.อาร์เอชบี โอเอสเค คาดว่า GDP จะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/58 เนื่องจาก 1.การเร่งเบิกจ่ายของโครงการภาครัฐ 2.สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการบริโภคในประเทศ และ 3.สภาพคล่องส่วนเกินที่ยังอยู่ในระบบในช่วง 2H58 ซึ่งหุ้น Top Pick ได้แก่ STEC, CENTEL, MINT, PS, AP, MC, MEGA, และ NYT โดยคาดว่า GDP ในไตรมาส 2 จะเติบโตได้ 3.2% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.8% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 4% และประเมิน GDP ทั้งปีไว้ที่ 3.4% โดยการขับเคลื่อนหลักจะมาจากภาคการลงทุนรัฐบาล

ทั้งนี้ ในรอบ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-เม.ย.58) มีการเบิกจ่ายราว 58.4% ของงบประมาณ 2.575 ล้านล้านบาท และราว 36.2% ถูกเบิกจ่ายออกจากงบลงทุนที่ 4.49 แสนล้านบาท นอกจากนั้น รัฐบาลวางเป้าการเบิกจ่ายในสัดส่วน 87% ของงบลงทุนรวมในปี 58 และที่เหลืออีก 28.6% จะถูกเบิกออกมาในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี 58 ทั้งนี้ แม้ว่าสัญญาณดังกล่าวจะเป็นไปในเชิงบวกในรอบการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่เป้าการเบิกจ่ายที่ 87% มีความเป็นไปได้ โดยที่ผ่านมามีการเบิกไปในอัตรา 90% สำหรับปี 57, 90.5% สำหรับปี 56 และ 90.3% สำหรับปี 55 ตามลำดับ

สำหรับปัญหาด้านอุปทานเงินเติบโตเล็กน้อยเป็น +6% ในเดือน เม.ย.จากเดิม +6.1% ในเดือน มี.ค.และ +5.4% ในเดือน ก.พ.ซึ่งปัญหาการเงินในประเทศและปัญหาสภาพคล่องเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว จากอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ต่ำ รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายของงบภาครัฐที่รวดเร็วขึ้น ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจเริ่มดีขึ้นเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกันเป็น 5.4% ในเดือน เม.ย.จากเดิม +5% ในเดือน มี.ค.และ +4.7% ในเดือน ก.พ.ตามลำดับ ส่วนการเติบโตของฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น 5.2% ในเดือน เม.ย.ลดลงเล็กน้อยจากเดิม +5.3% ในเดือน มี.ค.และ +4.3% ในเดือน ก.พ. ซึ่งสัดส่วนสินเชื่อต่อฐานเงินฝากยังทรงตัวที่ราว 94.5% ในเดือน เม.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ