โฆษก ธปท.คาดหนี้ครัวเรือน Q1/58 เริ่มทรงตัว ศึกษาเชิงลึกผลกระทบเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2015 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนภายในประเทศว่า คาดว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/58 จะทรงตัวและเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เนื่องจากตัวเลขสินเชื่ออุปโภค-บริโภคเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

อนึ่ง ข้อมูลล่าสุดของตัวเลขหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 4/57 อยู่ที่ระดับ 85.9% ต่อ GDP

ส่วนแนวโน้มปัญหาหนี้ครัวเรือนจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของการบริโภคในอนาคตมากน้อยเพียงใดนั้น โฆษก ธปท.กล่าวว่า กรณีนี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เห็นว่าควรจะต้องมีการศึกษารายละเอียดที่เป็นข้อมูลในเชิงลึกของตัวเลขหนี้ครัวเรือนให้มากขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้วการที่หลายฝ่ายมีความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นอาจจะไม่ใช่ความกังวลที่เกิดจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนเองแต่เป็นความกังวลในมิติที่ว่าจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างไร รวมถึงจะกระทบต่อทิศทางการบริโภคของประเทศอย่างไร

“หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมันตอบไม่ได้ ต้องลงไปดูถึงว่าหนี้ที่แบ่งตามกลุ่มรายได้ ที่น่าห่วงคือ ผู้มีรายได้น้อย เพราะมีความจำเป็นสูงในการก่อหนี้ และอยู่ในภาคเกษตรที่ถูกผลกระทบได้มากกว่าในเชิงรายได้ การจะกระทบความสามารถในการบริโภคจริงหรือไม่ ต้องไปดูต่อว่าผู้ที่ถูกกระทบต้องมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้เกิน 40% แต่ตัวเลขพวกนี้เรายังไม่มี ซึ่งถ้าจะตอบโจทย์เรื่องหนี้ครัวเรือนจริงๆ ว่าหนี้ครัวเรือนจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการบริโภคในอนาคตหรือไม่นั้นต้องไปศึกษาข้อมูลเชิงลึก ที่ผู้ว่าฯเห็นว่าเราต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งมากกว่านี้"นายจิรเทพ กล่าว

สำหรับการตัดสินใจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) นั้น โฆษก ธปท.เชื่อว่า ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลเนื่องจากเป็นข้อมูลที่ตลาดส่วนใหญ่รับรู้และคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะปรับขึ้นในเดือนก.ย.ปีนี้ แต่สิ่งที่ตลาดติดตามน่าจะเป็นถ้อยแถลงที่จะออกมาจากผลการประชุมครั้งนี้มากกว่าว่าจะมีการชี้นำหรือพูดถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไม่ใช่ประเด็นที่น่าตกใจเหมือนการทำ QE 3 เพราะตลาดรับรู้และมีการปรับตัวไปในระดับหนึ่งแล้ว แค่ติดตามว่าใน statement จะมีการชี้นำ หรือพูดถึงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรมากกว่า"โฆษก ธปท.กล่าว

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซนในขณะนี้ มองว่าเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ เช่น เยอรมนี, ฝรั่งเศส หรืออิตาลี อยู่ในภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้น แต่สิ่งที่ยังต้องติดตามคือผลเจรจาเรื่องหนี้ของกรีซ อย่างไรก็ดีผลกระทบจากกรีซน่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เพราะโดยรวมแล้วหลายประเทศในยูโรโซนยังไม่มีปัญหา

“อยากให้มองว่าเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ ในยูโรโซนยังไปได้ดี ผลกระทบจากเรื่องหนี้ของกรีซอาจเป็นแค่ sentiment ในตลาดแค่ระยะสั้นๆ"นายจิรเทพ กล่าว

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันถือว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้ตามที่คาด โดยล่าสุด GDP ไตรมาสแรกของจีนเติบโตได้ 7% แม้จะลดลงจากระดับที่เคยเติบโตได้ 8% ในช่วงที่ผ่านมาแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะภาคการลงทุน,การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าปลีกยังมีการเติบโตในระดับที่ดี โดยมองว่าเศรษฐกิจของจีนมีการปรับสมดุลของการเติบโตไปสู่การใช้จ่ายในประเทศที่มากขึ้น ซึ่งหากจีนสามารถปรับตัวในจุดนี้ได้ดี ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคตามมา


แท็ก ธปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ