(เพิ่มเติม1) ธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือโต 3%จาก 3.8% ก่อนฟื้นโต 4.1% ปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 19, 2015 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)แถลงว่า คณะกรรมการ กนง.ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 58 ลงเหลือเติบโต 3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.8% ส่วนปี 59 คาดว่าจะเติบโตราว 4.1% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9%

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ตามการส่งออกที่มีแนวโน้มต่ากว่าคาดเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำลงจากต้นทุนและแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลง ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจในปีนี้มีความเสี่ยงต่อประมาณการโน้มไปด้านต่ำ เพราะโอกาสมีที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน จากเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่อาจชะลอตัวกว่าคาด และกระทบการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายในประเทศ

นายเมธี กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก และปัญหาเชิงโครงสร้างของการส่งออกสินค้าไทย รวมทั้งผลกระทบจากการแข็งขึ้นของดัชนีค่าเงินบาทในช่วงก่อนหน้า ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มต่ำลง ซึ่งบั่นทอนรายได้และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

ผนวกกับสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาด ขณะที่ภาครัฐมีแนวโน้มใช้จ่ายได้มากขึ้นและต่อเนื่องทั้งการลงทุนในงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ส่วนการส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐและภาคการส่งออกบริการที่สูงกว่าคาดไม่สามารถชดเชยแรงขับเคลื่อนที่หายไปจากการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนได้

นายเมธี กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 12.8% เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ยังคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย 28.8 ล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบจากโรคระบาดเมอร์ส เนื่องจากเพิ่งเกิดขึ้นและเชื่อว่าไทยจะสามารถควบคุมได้ เพราะมีประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาด เช่น โรคซาร์ส ซึ่งมีทั้งมาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองและป้องกันอย่างเต็มที่

แต่หากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แนวโน้มการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้น และเมื่อรวมกับการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนที่มีความต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อรายได้ของภาคครัวเรือนและสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าปีนี้

"การปรับลดคาดการณ์จากปัจจัยส่งออกเป็นหลัก แต่ยังไม่รวมเรื่องเมอร์ส เพราะยังไม่เห็นผลกระทบ และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ไม่เร็ว" นายเมธี กล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อปี 58 คาดว่าจะติดลบ -0.5% จากเดิมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% โดยอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลง เนื่องจากภาครัฐปรับลดอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลง แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/58 ราคาอาหารสดในช่วงที่ผ่านมาลดลง และแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า

"คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 58 และปี 59 ลงและประเมินความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งสองโน้มไปด้านต่ำ ตามเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจต่ำกว่าคาดตามอุปทานที่อาจปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยประเมินไว้ หากประเทศอิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง หรือผู้ผลิต Shale Oil ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นหากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าคาด" ธปท.ระบุ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการประเมินว่าโอกาสการเกิดภาวะเงินฝืดยังมีน้อย เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัว ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือสูงขึ้นและการคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของนโยบายการเงิน และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น

นายเมธี กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัว โดยจะเห็นชัดเจนในช่วงเดือน ก.ย. แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ชะลอมากกว่าคาดและการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด

ทั้งนี้ ธปท.ยังต้องติดตามความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนและเอเชีย ความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชน ประสิทธิผลของการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจและความไม่สมดุลทางการเงินที่อาจก่อตัวภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ