หอการค้าฯชี้ยังไม่ถึงเวลาปรับค่าจ้างหวั่นซ้ำเติมศก.-แนะแบ่งเรตตามพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2015 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการสำรวจ "ทัศนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2559" โดยสำรวจจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทั้งภาคการค้า บริการ การผลิต และภาคการเกษตรพบว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในปีช่วงที่ผ่านมานั้น ธุรกิจจำนวนถึง 95.4% ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดังกล่าวทุกรายการที่สำรวจ เช่น ต้นทุน ผลกำไร การลดการจ้างงาน การขาดสภาพคล่อง ความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น

จากการสอบถามผู้ประกอบการในต่างจังหวัด พบว่า แม้ว่าการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะทำให้ลูกจ้างได้รับรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน และทำให้แรงงานไม่ต้องไปทำงานนอกพื้นที่ แต่ก็มีปัญหาในเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมสำหรับแรงงานที่มีฝีมือและประสบการณ์ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นแทนที่จะเป็นแรงงานไทย นอกจากนั้น แรงงานเองอาจจะได้รับค่าล่วงเวลาน้อยลง โดยให้มีการปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ท้ายที่สุดธุรกิจจะเริ่มหันไปใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้นมากกว่าแรงงาน ซึ่งอาจทำให้แรงงานตกงานได้

"ในปี 2555 ซึ่งเป็นครั้งแรกของการประกาศขึ้นค่าแรง ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมากพอสมควร เนื่องจากเป็นช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์น้ำท่วม ต่อมาในปี 2556 เป็นการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ เศรษฐกิจในปีนั้นเติบโตได้เพียง 2-3% จนกระทั่งในปี 2557 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เศรษฐกิจยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เติบโตเพียง 0.9% มาจนถึงปัจจุบัน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมามีปัจจัยที่เป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจจึงเห็นว่า ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมหากจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างในระยะเวลานี้" นายภูมินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในสถานการณ์ข้อมูลปัจจุบันเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหมาะสมของค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอ ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่เป็นการสำรวจจากนายจ้างเท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อหาจุดร่วมหรือทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้

สำหรับผลการสำรวจในเรื่องรูปแบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม พบว่า ผู้ประกอบการ 36.5% เห็นว่าควรกำหนดค่าจ้างตามพื้นที่ และอีก 29.8% เห็นว่าควรกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 293.45 บาทต่อวัน โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลเฉลี่ยที่ 299.39 บาท ภาคกลางเฉลี่ยที่ 304.76 บาท ภาคเหนือเฉลี่ยที่ 274.06 บาท ภาคใต้เฉลี่ย 300.58 บาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ย 272.63 บาทต่อวัน

ในส่วนของความคิดเห็นที่ว่า หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 360 บาท จะส่งผลกระทบอย่างไรพบว่า จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากถึง 89% โดยแบ่งเป็น ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น 24.1% กำไรลดลงหรือขาดทุน 22.32% ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 18.1% ปลดคนงานลดลง 11.31% หาเครื่องจักรดำเนินการแทนแรงงาน 10.79% และต้องปรับราคาสินค้าขึ้น 9.12%

นายภูมินทร์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะต่อเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้ 1.ควรคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไปอีก 2. ควรมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ 3. ควรมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจ และฝีมือแรงงาน 4. ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด 5. ควรมีการฝึกและประเมินฝีมือแรงงาน ก่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละประเภทธุรกิจ 6. ควรมีมาตรฐานวิชาชีพที่มีทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานตามความสามารถและระดับรายได้ 7. รัฐบาลควรมีการส่งเสริมรัฐสวัสดิการให้ประชาชน อาทิ การรักษาที่มีคุณภาพ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ฯลฯ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

"สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ คือ การสร้างนักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงาน สำหรับการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อประเมินสถานการณ์ ผลดี และผลเสีย ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากนัก เพราะที่ผ่านมาเราไม่ทราบเลยว่าค่าจ้าง 300 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เท่าไร หรือเพิ่ม Productivity ด้านแรงงานอย่างไร รวมทั้งสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อกับค่าแรง 300 บาท มีความเหมาะสมหรือยัง มีความสมดุลกับกลไกตลาดหรือไม่" นายภูมินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในทุกพื้นที่ยังเห็นพ้องกันว่าควรมีค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดนั้น ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่สะท้อนถึงความเป็นจริง และไม่ควรกำหนดค่าจ้างแรกเข้าเท่าเทียมกันในทุกจังหวัด แต่ควรเน้นกลไกตลาดแรงงานเป็นหลักในการปรับค่าจ้าง รวมทั้งปรับขึ้นตามความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะของแรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ