สรรพสามิต โชว์ 9 เดือนปีงบ 58 เก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ-ลุยปราบน้ำมันเถื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2015 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 - มิถุนายน 2558) กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเป็นเงิน 92,103.71 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 43,056.34 บาท หรือ 87.79%

ในปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-พฤษภาคม 2558) กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากร สามารถปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม จำนวนทั้งสิ้น 3,125 คดี คิดเป็นปริมาณน้ำมัน รวมจำนวน 12.63 ล้านลิตร แยกเป็น ดีเซล จำนวน 8.95 ล้านลิตร เบนซิน จำนวน 2.10 ล้านลิตร น้ำมันเตา จำนวน 564,100 ลิตร สารโซลเว้นท์ จำนวน 63,240 ล้านลิตร น้ำมันเครื่องใช้แล้ว จำนวน 165,750 ล้านลิตร น้ำมันเครื่อง จำนวน 150,110 ล้านลิตร และก๊าซแอลพีจี จำนวน 638.75 ตัน

สำหรับผลการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อน ประจำปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 - พฤษภาคม 2558) พบว่ามีการกระทำผิดจำนวนคดีทั้งสิ้น 1,852 คดี ปริมาณน้ำมัน รวมจำนวน 1.66 ล้านลิตร แยกเป็น ดีเซล จำนวน 552.62 ล้านลิตร เบนซิน จำนวน 585,810 ล้านลิตร น้ำมันเตา จำนวน 454,100 ล้านลิตร และสารโซลเว้นท์ จำนวน 63,240 ล้านลิตร

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวผลการดำเนินการตามโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 - มีนาคม 2558) พบว่า มีปริมาณที่ตรวจปล่อยจำนวนทั้งสิ้น 379.30 ล้านลิตร และขอใบอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 141 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544-2558 พบว่า มีปริมาณที่ตรวจปล่อยจำนวนทั้งสิ้น 10,660 ล้านลิตร และขอใบอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 5,647 ราย

นางศิรินา อินแก้ว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวถึงผลการดำเนินงานโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงฯ เดือนมกราคม – มีนาคม 2558 ว่า มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีจำนวน 5 ราย (ผู้ค้าน้ำมัน 3 ราย และโรงกลั่น จำนวน 2 ราย) เรือบรรทุกน้ำมันและเรือสถานีบริการน้ำมัน (Tanker) มีจำนวน 16 ลำ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557) เรือประมงที่จดทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,453 ลำ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557) สมาคมประมงท้องถิ่นที่เสนอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 37 สมาคม (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557) สำหรับปริมาณน้ำมันดีเซลที่นำไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่อง (มกราคม – มีนาคม2558) มีปริมาณของการตรวจปล่อยน้ำมันเขียว จำนวน 75.97, 50.62 และ 71.50 ล้านลิตร ซึ่งน้ำมันดังกล่าวนำไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่อง โดยจำหน่ายเฉพาะในฝั่งอ่าวไทย บางส่วนถูกนำไปจำหน่ายในฝั่งอันดามัน

สำหรับปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ ตามรายงานของกรมธุรกิจพลังงาน เดือนมกราคม – มีนาคม 2558 ดังนี้ โรงกลั่นมีการจำหน่ายน้ำมันเขียวให้กับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ในเดือนมกราคม – มีนาคม 2558 รวมปริมาณทั้งสิ้น 208.49 ล้านลิตร โดยจำแนกเป็น 1) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในเดือนมกราคม – มีนาคม 2558 มีปริมาณรวม 181.22 ล้านลิตร จำหน่ายให้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด รวมปริมาณทั้งสิ้น 129.31 ล้านลิตร จำหน่ายให้บริษัท ปตท.จำกัด มหาชน ปริมาณ 51.92 ล้านลิตร และ 2) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด มีปริมาณการจำหน่ายรวม 27.26 ล้านลิตร จำหน่ายให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชนปริมาณ 16.97ล้านลิตร บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ปริมาณ 10.30 ล้านลิตร โดยสรุปผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จำหน่ายน้ำมันเขียวให้โครงการฯจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท น้ำมันไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สำหรับ ปริมาณน้ำมันดังกล่าวถูกจำหน่ายให้ผู้ค้าน้ำมันในเขตต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นผู้รับน้ำมันนำไปจำหน่ายให้ชาวประมง) มีจำนวน 3 ราย ได้แก่บริษัท ค้าน้ำมันประมง จำกัด บริษัท ค้าน้ำมันประมงไทยแหลมทอง จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.ยู.ออยล์ ในเดือนมกราคม – เมษายน 2558 รวมจำนวนทั้งสิ้น 644.85 ล้านลิตร

นายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 2 สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าและส่งออกน้ำมัน แบ่งออกเป็นทางบกและทางทะเล โดยทางบกจะมีลักษณะเป็นกองทัพมดตามชายแดนปาดังเบซาร์ สะเดา วังประจัน สุไหงโก-ลก และตากใบ สถานการณ์โดยทั่วไปลดลงจนมีจำนวนน้อยลงมาก ส่วนทางทะเล มีการลักลอบนำขึ้นบกเป็นขบวนการใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว โดยเป็นรายเล็กที่ขายกลางทะเลในเขต 12 -24 ไมล์ทะเล บริเวณน่านน้ำจังหวัดสตูล สำหรับการลักลอบนำน้ำมันเขียวขึ้นบก ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่มีแอบขายต่อจากเรือที่มีสิทธิ์เติมไปให้เรือประมงชายฝั่งบ้างจำนวนไม่มาก

สำหรับผลการดำเนินงานสามารถจับกุมผู้กระทำการลักลอบน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2558 โดยหน่วยงานภายนอก มีดังนี้ ลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันดีเซล มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 279 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 386,457 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 8,797,249 บาท และการลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันเบนซิน มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 812 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 482,001 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 14,031,268 บาท สำหรับการลักลอบส่งออกประเภทน้ำมันดีเซล มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 6 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 1,312 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 37,128 บาท และการลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันเบนซินพบว่าไม่มีคดี

สำหรับสถิติการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (น้ำมันเขียว) ตั้งแต่ปี 2556 –พฤษภาคม 2558 พบว่า มีจำนวนใบขนรวมทั้งสิ้น 701 ฉบับ ปริมาณรวม ทั้งสิ้น 1,852,428,462 ลิตร คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 39,594,705,065 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ