ธปท.รับปีนี้ภัยแล้งรุนแรง กนง.ยกเป็นปัจจัยประเมิน GDP มองภาคเกษตรกระทบหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2015 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งตามปกติในทุกปี ธปท.จะประมาณการความเสี่ยงด้านภัยแล้งรวมไว้อยู่แล้ว แต่ปีนี้ถือว่าปัญหามีความรุนแรงกว่าปกติ ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะนำปัจจัยนี้ไปร่วมพิจารณาตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลายได้เร็วหากมีฝนตกมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้

"ธปท.คงต้องติดตามดูแลปัญหาภัยแล้งในภาพรวมทั้งหมด ยอมรับว่าปีนี้แล้งหนักกว่าปกติ ก็ต้องนำไปรวมกับการประเมินการขยายตัว GDP รอบใหม่ด้วย" นายจิรเทพ กล่าว

นายจิรเทพ กล่าวว่า ผลกระทบภาคการเกษตรนั้นมีแน่นอนทั้งในด้านรายได้และการใช้จ่าย ส่วนหนึ่งมากจากปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่แก้ไขปัญหานี้ด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต จึงต้องพิจารณาว่าพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบอย่างไร และรัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยและดูแลเกษตรกรอย่างไร ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างติดตามว่ากระทรวงการคลังจะมีมาตรการด้านการคลังออกมาหรือไม่ ขณะที่นโยบายด้านการเงินอาจช่วยไม่ได้มาก

แต่ในด้านภาคอุตสาหกรรมขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะจากที่ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการยังไม่พบประเด็นใดที่น่าเป็นห่วง เพราะสามารถใช้น้ำจากการประปานครหลวง(กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)ได้ตามปกติ ส่วนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำสำรองไว้เพียงพออีก 1-2 วัน ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายสามารถใช้น้ำบาดาลได้ จึงทำให้ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบแบบทันทีทันใด

โฆษก ธปท.ยังกล่าวถึงกรณีที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงมามากว่า ธปท.ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใดเป็นพิเศษเพื่อรองรับปัญหาของประเทศจีน เพราะปัจจุบันมีกลไกดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะสถานการณ์ ซึ่งจากนี้ ธปท.จะติดตามว่าปัญหาฟองสบู่ของจีนจะลุกลามแค่ไหน อย่างไรก็ดี เห็นว่ารัฐบาลจีนดูแลได้ในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกไทยในขณะนี้ยังไม่มี เพราะปัญหาไม่ได้ลุกลามไปยังภาคครัวเรือนและการบริโภคของจีน แต่ที่ต้องติดตามมีเฉพาะผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น

ส่วนปัญหาหนี้ของประเทศกรีซนั้น มองว่ามีแนวโน้มคลี่คลาย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของกฎหมาย และการเมืองที่จะทำให้กรีซหลุดออกจากประเทศในยูโรโซน ส่วนผลกระทบที่มีต่อไทยโดยตรงนั้นยังค่อนข้างน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ