เงินบาทเปิด 34.18 อ่อนค่ารอบ 6 ปี หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 16, 2015 09:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.18 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเมื่อเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 34.07/09 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2552

เงินบาทวันนี้ปรับตัวไปในทิศทางที่อ่อนค่า หลังจากที่ตลาดรับทราบถ้อยแถลงของนางเจนเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในระหว่างการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรส โดยได้ส่งสัญญาณถึงความชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะอ่อนค่าในกรอบ 34.10-34.25 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยเรื่องกรีซที่รัฐสภาลงมติรับร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่นั้น ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว จึงไม่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อตลาดมากเท่ากับกรณีถ้อยแถลงของประธานเฟด

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 123.80 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 123.57 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0920 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1020 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 34.053 บาท/ดอลลาร์
  • "3 โบรกเกอร์ใหญ่' มองทิศทางหุ้นครึ่งปีหลังผันผวน "ภัทร" จ่อหั่นเป้าดัชนีปีนี้ลงอีกเดิมคาดที่ 1,440 จุด หลังเห็นสัญญาณกำไรบริษัทจดทะเบียนโตลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม "แบงก์-พลังงาน" แนะกระจายลงทุนต่างประเทศมากขึ้น "บัวหลวง" ชี้เศรษฐกิจไทยซบตามเอเชีย มองหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ด้าน "กสิกรไทย" คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยเงินไหลเข้าหุ้น
  • เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังเผชิญหลากปัจจัยไม่แน่นอน "ส่งออก-เบิกจ่ายงบฯ" ขณะที่ "ภัยแล้ง" เข้ามาซ้ำเติม เวิลด์แบงก์แนะรัฐเร่งหามาตรการช่วยก่อนลามไปสู่การผิดนัดชำระหนี้และปัญหาด้านสังคม พร้อมดูแลการจัดการทรัพยากรน้ำ และแก้ปัญหาโครงสร้างด้านการส่งออก
  • นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ยังเสี่ยงสูง จากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว แม้กรีซ-จีนเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี ส่งผลกระทบส่งออก-การขยายตัวเศรษฐกิจของไทยปีนี้ ด้านธนำคารโลก เล็งหั่นจีดีพีของไทยอีกรอบ ขณะ รมว.คลังชี้ มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3%
  • นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง หวั่นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังทรุดหนัก กดจีดีพีไทยตลอดทั้งปีต่ำกว่า 3% เหตุปัจจัยลบต่างประเทศส่งผลให้ยอดการส่งออกทั้งปีติดลบ 1.7% ขณะที่ปัญหาภัยแล้งยังกระหน่ำไม่หยุด
  • นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.นี้ หรือต้นปี 2559 จะทำให้ค่าเงินบาทขยับมาอยู่ที่ 34.50 บาท/เหรียญสหรัฐ และจะไม่ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยเปลี่ยนแปลงมากนัก
  • กสทช.มั่นใจเปิดประมูล 4 จีย่าน 1,800 เมกะเฮิร์ตซ์ ได้ในเดือนพ.ย.นี้รวม 2 ใบอนุญาต ใบละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ หลัง 'กสท' ส่งคืนคลื่นความถี่ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ทำให้เครือข่ายสมบูรณ์มากขึ้น จึงเพิ่มวงเงินประมูล ขั้นต่ำจาก 1.1 หมื่นล้าน เป็น 1.3-1.4 หมื่นล้าน
  • เว็บไซต์สำนักราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ได้เผยแพร่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558
  • ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (15 ก.ค.) เนื่องจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ในระหว่างการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ
  • รัฐสภากรีซลงมติรับร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่ของนายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ ซึ่งถือเป็นการปูทางให้กรีซมีคุณสมบัติที่จะรับความช่วยเหลือด้านการเงินรอบที่ 3 ช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้และไม่ต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน และจะทำให้รัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีและเงินบำเหน็จบำนาญรอบแรกได้
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก และสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมาปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 1.63 ดอลลาร์ ปิดที่ 51.41 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 1.46 ดอลลาร์ ปิดที่ 57.05 ดอลลาร์/บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ