เงินบาทปิด 34.19/21 อ่อนค่าจากดอลล์แข็งหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดบ.ปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 16, 2015 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.19/21 จากช่วงเช้าที่ระดับ 34.18 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวตามภูมิภาคในกรอบ 34.18-34.23 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าจากถ้อยแถลงของนางเจนเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ส่งสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
"เงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยเป็นเรื่องทิศทางดอกเบี้ยของเฟด ส่วนปัญหาหนี้กรีซก็ต้องรอความชัดเจนยิ่งขึ้น" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 123.96/97 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 123.80 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0895/0897 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0920 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,481.26 จุด ลดลง 5.48 จุด, -0.37% มูลค่าการซื้อขาย 41,022.75 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 104.79 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยล่าสุดของธปท.ประเมินไว้ 3% แต่เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเสี่ยงที่จะโตได้น้อยกว่า 3% จากปัจจัยภัยแล้งที่เพิ่งเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่ง ธปท.จะขอประเมินสถานการณ์ก่อน โดยตอนนี้ยังคง GDP ปีนี้ไว้ที่ 3%
  • นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รายงานผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง 8 เดือนสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ใช้ระบบปีงบประมาณ และ 4 เดือน สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ใช้ระบบปีปฏิทิน ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สคร. จึงได้พยายามเร่งรัดให้มีการเบิกจ่าย เพื่อผลักดันให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางการคลังของประเทศและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2015 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยติดกับดักเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทุกภาคส่วนยังไม่มีความเข้มแข็ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งโดยเฉพาะภาคการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตร(GDP ภาคเกษตร) ช่วงครึ่งแรกของปี 58 หดตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 36 ปี และคาดว่าทั้งปี GDP ภาคเกษตรจะหดตัวในช่วง -4.3 ถึง -3.3% ซึ่งจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงอย่างใกล้ชิดเพื่อหามาตรการเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะภัยแล้งอาจส่งผลกระทบไปถึงปี 59
  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลงสู่ระดับ 6.1% ปีนี้ และ 6.2% ในปีหน้า จากเดิมที่ 6.3% สำหรับทั้ง 2 ปีที่ประเมินไว้เมื่อเดือน มี.ค.58 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงเกินคาดในสหรัฐและจีนได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งมี 45 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ ADB โดยไม่รวมประเทศสมาชิกอย่างญี่ปุ่น ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ADB ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 4.6% จากเดิม 4.9% โดยมีปัจจัยถ่วงจากเศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่ชะลอตัวกว่าคาดในอินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย
  • สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ เผยการที่ตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนในช่วงนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ และระบบการเงินของประเทศ เนื่องจากธนาคารของจีนลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นไม่มากนัก
  • มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เปิดเผยว่า ภาวะผันผวนในตลาดหุ้นจีนเมื่อไม่นานนี้ จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของจีน

ความยุ่งเหยิงในตลาดหุ้นจีนไม่ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคาดการณ์ของมูดีส์แต่อย่างใด ขณะที่การคาดการณ์ของมูดีส์ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจของจีนจะอยู่ที่ 6.5% -7.5% ในปีนี้ และ 6%-7% ในปี 2559

  • รัฐสภากรีซมีมติอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกรีซได้ทำข้อตกลงร่วมกับกลุ่มเจ้าหนี้ยูโรโซนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อแลกกับการรับความช่วยเหลือด้านการเงินครั้งใหม่จากกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้และไม่ต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน โดยจะเป็นการปูทางให้กรีซมีคุณสมบัติที่จะรับความช่วยเหลือด้านการเงินรอบที่ 3 และทำให้รัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีและเงินบำเหน็จบำนาญรอบแรก
  • ยูเครนและบรรดาเจ้าหนี้จะจัดการเจรจาเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า หลังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของประเทศ
  • นายวูล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีกระทรวงคลังเยอรมนี กล่าวว่า แม้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่าการปรับลดมูลค่าหนี้สำหรับกรีซเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เขาคิดว่าการกระทำเช่นนั้นอาจจะไม่ชอบด้วยกฏหมาย ตราบใดที่กรีซยังคงเป็นสมาชิกของยูโรโซน โดยเขายังคงเชื่อว่าทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกรีซอาจจะเป็นการออกจากยูโรโซนเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้เสนอไว้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ