(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน เร่งโซล่าร์ฟาร์มค้างท่อจ่ายไฟภายในธ.ค.58,อาจทบทวนเปิดรอบใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 28, 2015 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน มอบนโยบายกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ดำเนินงานส่งเสริมพลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้าหมายที่จะให้เกิดการใช้เพิ่มเป็น 30% ภายในปี 79 พร้อมเร่งรัดให้โครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือนธ.ค.58 เพื่อเคลียร์สายส่งรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆเพิ่มเติม

ขณะที่มองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) ที่มีอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างมากทำให้อาจต้องพิจารณาทบทวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ขนาดใหญ่รอบใหม่ด้วย แต่ยังไม่เปลี่ยนเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ระดับ 6 พันเมกะวัตต์ภายในปี 79

"สัดส่วนพลังงานทดแทนปัจจุบัน คิดว่าโซลาร์อาจจะมากเกินไป แต่ตัวอื่นยังมีอยู่ช่องอยู่ โซลาร์เปิดรอบใหม่เป็นเรื่องเป็นราวคงต้องมาทบทวนดูก่อน ส่วนโซลาร์รูฟท็อปที่ใช้ทั่วไปอาจจะมีโอกาสได้ แต่โซลาร์รายใหญ่ๆอาจต้องทบทวนเหตุการณ์ก่อน เดือนธันวาคมนี้ปิด(ดีลโซลาร์ค้างท่อ)ก็จะคุยกับกรมอีกทีว่าจะเดินไปทางไหน...ส่วนเป้าที่ 6 พันเมกะวัตต์ภายในปี 79 นั้น ตอนนี้เรามีประมาณ 3 พันเมกะวัตต์ ก็เหลือเวลาอีก 20 ปีตอนนี้เร็วเกินไป เราค่อยๆส่งเสริม"พล.อ.อนันตรพร กล่าว

รมว.พลังงาน ยืนยันว่า สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประกาศออกไปก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 800 เมกะวัตต์นั้นยังคงเป็นไปตามเป้าหมายเดิม ขณะที่โครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อ ที่ยังไม่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้านั้น ล่าสุดพพ.ช่วยให้ผู้ประกอบการได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วทั้งสิ้น 148 โครงการ กำลังการผลิต 843.95 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้ตามเป้าหมายที่มีโซลาร์ฟาร์มค้างท่ออยู่ราว 1 พันเมกะวัตต์แล้ว

"โซลาร์ค้างท่อเราพยายามให้จบภายในเดือนธันวาคมนี้ ถ้าไม่สามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ คนที่รับปากว่าทำได้ต้องทำให้ได้ ไม่งั้นจะปิดงานไม่ได้เพราะสายส่งไม่พอ โซลาร์สหกรณ์ ส่วนราชการ ขยะอีกหลายอย่างก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ากรมนี้สามารถขีดเส้นจบได้มีแผนงานที่ชัดเจน ให้เขารู้ว่าต้องทำให้ทันเวลานี้ ไม่อนุโลมอีกครั้ง...ขั้นตอนผมบอกให้จบ แต่ถ้ามีเหตุผลควรจะบอกเหตุผลตั้งแต่ตอนนี้ไม่ใช่บอกเอาเดือนธันวาฯ ต้องมาบอกตอนนี้"รมว.พลังงาน

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า มอบหมายให้พพ.ดูแผนพลังงานทางเลือกอื่น และให้การส่งเสริมที่เหมาะสม โดยเฉพาะไบโอแก๊ส ไบโอแมส ที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เอง รวมถึงให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆเพื่อให้เกิดการส่งเสริมได้อย่างจริงจัง อย่างการที่รัฐบาลส่งเสริมด้านพลังงานขยะ ก็จะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาดไทย ,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,ภาคเอกชน ก็ต้องประสานงานเพื่อให้เกิดโครงการที่เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมามากนั้น แม้อาจทำให้การใช้พลังงานทดแทนมีขีดจำกัด แต่ก็ยังคงต้องส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างค่อยเป็้นค่อยไปเพื่อให้มีความเหมาะสมด้วย

"พลังงานทดแทนมีขีดจำกัด ถ้าเราใช้คือโตเร็วเกินไปบางครั้งทำให้มีความไม่มั่นคงเหมือนกัน เพราะพลังงานทดแทนไม่มั่นคง ตรงนี้ต้องมีการเติบโตตามลำดับที่กำหนดไว้ การส่งเสริมส่งเสริมให้เกิดตามขั้นบันไดที่ถูกต้อง ไม่ได้ส่งเสริมจนทดแทนพลังงานหลัก พลังงานทดแทนไม่เสถียร พลังงานหลักก็ต้องสำรองไว้ชดเชยด้วย"รมว.พลังงาน กล่าว

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ส่วนการนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเป็นเอทานอลนั้น ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ซึ่งจะเป็นผู้บริหารจัดการ ปริมาณข้าวในสต็อก ซึ่งเบื้องต้นผู้ประกอบการเอทานอล มีศัยกยภาพที่จะเก็บข้าวเสื่อมคุณภาพเหล่านี้เพื่อนำมาผลิตเอทานอลได้ราว 1 ล้านตัน แต่คงต้องมีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการให้มีความชัดเจนก่อน

ขณะที่ในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งน่าจะมีการพิจารณาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ของเดือนก.ย.นี้ ส่วนแนวโน้มจะมีราคาอย่างใดนั้นคงต้องขอเวลาพิจารณาก่อน นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีพพ. ได้รายงาน พล.อ.อนันตพร ในโอกาสการมอบนโยบายให้แก่พพ.ถึงความคืบหน้าสำคัญ ๆ และผลงานเด่นๆ ของพพ. ได้แก่ ความก้าวหน้าของจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ Alternative Energy Development Plan : AEDP 2015 ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ด้วยราคาที่ประชาชนยอมรับ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ พพ. จะได้มีโครงการสำคัญ คือโครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิด Variable speed/Inverter ทดแทนของเดิมในอาคารควบคุมภาครัฐ โดยเบื้องต้น พพ. จะนำร่องเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี ในอาคารควบคุมภาครัฐ จำนวนรวม 50,079 เครื่อง ( 1,309 ล้านBTU) รวมทั้งผลักดันให้เกิดการยกระดับเกณฑ์ประสิทธิภาพในวงกว้างต่อไป โดยคาดว่าจะเกิดผลประหยัดรวม 165 ล้านหน่วย/ปี (14 ktoe/ปี) หรือคิดเป็นเงินประมาณ 660 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ได้ประมาณ 108,917 ตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ