กรมการค้าต่างประเทศ เผยผลโรดโชว์สปป.ลาว สามารถเจรจาธุรกิจมูลค่ากว่า 30 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2015 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา กรมฯได้นำคณะผู้แทนการค้ากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 27 ราย จาก 17 บริษัท เดินทางไปเยือนนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว แสวงหาลู่ทางการค้าการลงทุนด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สามารถรจัด Business matching ระหว่างนักธุรกิจของไทยกับนักธุรกิจของ สปป.ลาว บรรลุผลในการเจรจาการค้าทันที จำนวน 10 บริษัท มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท ได้แก่ 1) ห้างหุ้นส่วน เอกแสงพานิช ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอะไหล่ มูลค่า 5 แสนบาท 2) บริษัท เทนเดนซา อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตสเปรย์ฉีดเสื้อเย็น มูลค่า 3 แสนบาท 3) โรงสีพีดีเอส ผู้ผลิตข้าวสารจากจังหวัดกาฬสินธุ์ มูลค่า 5-10 ล้านบาท 4) บริษัท อิเลคทรอนิค โซลชั่น เซอร์วิส จำกัด ดำเนินธุรกิจอิเลคทรอนิค อะไหล่ มูลค่า 1 ล้านบาท 5) บริษัท SPK ผู้ผลิตเครน/อะไหล่รถยนต์ มูลค่า 3 ล้านบาท 6) บริษัท BB Mart ผู้ค้าปลีก/ค้าส่ง มูลค่า 5-10 ล้านบาท 7) บริษัท บายไอเดียล ผู้ผลิตหลอดไฟฟ้า มูลค่า 1 ล้านบาท 8) บริษัท ทีเอสเบทเทอร์ฟูดส์ ผู้ผลิตนมอัดม็ด มูลค่า 3 ล้านบาท 9) บริษัท บางกอกเฟเวอร์ ผู้ผลิตน้ำพริกแกงแม่สุเพ็ญ มูลค่า 1 ล้านบาท 10) บริษัท โอเอนพรินต์ติ้ง จำกัด ขายเสื้อผ้าเด็ก มูลค่า 1 แสนบาท

นอกจากนี้ คณะผู้แทนการค้าไทยได้มีโอกาสประชุมหารือกับนายสังคม จันสุก ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมนครหลวงเวียงจันทน์ นายจตุรงค์ บุนนาค และนายวราวุธ มีสายญาติ ตำแหน่งรองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว โดยผลการหารือทำให้ทราบว่า สปป.ลาว แบ่งการปกครองออกเป็น 17 แขวงและ 1 นครหลวง มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน การที่มีประชากรน้อยทำให้ สปป.ลาว ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานมีฝีมือ อัตราค่าจ้างแรงงาน (ปริญญาตรี) เริ่มต้นที่ประมาณ 1.5 ล้านกีบ หรือประมาณ 6,000 บาท/เดือน

ทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของ สปป.ลาว มีแนวโน้มการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย ร้อยละ 8 ต่อปี สามารถเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์กับไทยได้ทั้งทางถนน เครื่องบิน และรถไฟ สภาพสังคมมีการขยายตัวของชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลาวมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้แทนการค้าไทยฯกยังเดินทางไปเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ ในนครหลวงเวียงจันทน์ 3 แห่ง คือ 1) เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์-โนนทอง (VITA-PARK) พื้นที่ 110 เฮกตาร์ รัฐบาล สปป.ลาว และบริษัทหม่าเวพัฒนา จำกัด (จีนไต้หวัน) ถือหุ้นร้อยละ 30:70 สัมปทาน 75 ปี มีการลงทุนทั้งหมด 38 บริษัท จากหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เดนมาร์ก มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย ประเทศไทยเข้าไปลงทุนแล้ว 7 บริษัท คือ บริษัท Big-J บริษัท พีทีเอส แอดวานซ์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (รับเหมาก่อสร้าง) บริษัท Chua City (ผลิตน้ำปลา ซอส ) บริษัท Lucky Union Foods (ปูเทียมอัดแท่ง) บริษัท ซีพี (ข้าวโพดแปรรูป) บริษัท VT (ผลิตยา) และบริษัทบุญศิริ (อาหารแช่เย็น)

2) เขตเศรษฐกิจพิเศษไชเชษฐา พื้นที่ 6,250 ไร่ ร่วมทุนระหว่างลาว-จีน โดยจีนเป็นฝ่ายบริหาร เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้ามาลงทุนแล้ว 5 บริษัท คือ บริษัทผลิตอาหารสัตว์สำหรับขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ บริษัทขายอุปกรณ์ก่อสร้าง บริษัทปลูกต้นไม้ประดับ บริษัทกลั่นน้ำมันที่มาสร้างในเขตโครงการนี้ ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล สปป.ลาว สำหรับประเทศไทยบริษัท SCG เข้าไปลงทุนก่อสร้างอาคาร

3) เขตเศรษฐกิจพาะบึงธาตุหลวง พื้นที่ 365 เฮกตาร์ เปิดให้สัมปทานแก่บริษัท เซี่ยงไฮ้ วั่นเฟิง (จีน) สัมปทานนาน 99 ปี ปัจจุบันได้ปรับพื้นที่กว่าร้อยละ 40 ประกอบด้วยโรงเรียนนานาชาติ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สถาบันการเงิน ศูนย์วัฒนธรรม โรงแรม หอประชุมนานาชาติ ศูนย์การค้า โซนที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม สวนสาธารณะขนาดใหญ่ ขณะนี้ บริษัทชั้นนำของไทยหลายแห่งได้เข้าไปจับจองคอนโดมีเนียมแล้วเช่นกัน รวมทั้งยังสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ