ทริสฯ จัดอันดับเครดิต“กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล"ที่ “AAA"แนวโน้ม“Stable"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2015 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi)ที่ระดับ “AAA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ทำหน้าที่จัดหาพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศเพื่อส่งเข้ามาในประเทศไทย อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการดำเนินงานที่ใกล้ชิดกับ กฟผ. และการมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลยุทธ์ระยะยาวของ กฟผ. ทางด้านการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับประเทศด้วย ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก กฟผ. รวมถึงการที่บริษัทมีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยงานลงทุนสำหรับ กฟผ. ในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศเพื่อมาใช้ภายในประเทศด้วยเช่นกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย กฟผ. และยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อ กฟผ. ในการแสวงหาพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย ปัจจัยที่อาจมีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ที่ลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและ กฟผ. ที่เปลี่ยนไป หรือการสนับสนุนจาก กฟผ. ที่ลดลง เป็นต้น

บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อเป็นตัวแทนของ กฟผ. ในการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าที่เป็นโครงการระหว่างรัฐในประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทมี กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้น 100% ตั้งแต่วันที่จัดตั้ง ทั้งนี้ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยโดยดูแลทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งทั้งหมด

ณ เดือนมิถุนายน 2558 กฟผ. เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าคิดเป็น 43% ของกำลังการผลิตของประเทศ และสำหรับกำลังการผลิตส่วนที่เหลือนั้น กฟผ. เป็นผู้ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ กฟผ. ยังเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศทั้งหมดด้วย กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จากบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงการมีข้อกำหนดในการจัดตั้ง กฟผ. ที่ระบุในพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 จึงมีผลให้ความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ใกล้เคียงกับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก

จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) ประเทศไทยจะต้องนำเข้าไฟฟ้ารวม 12,347 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 เมกะวัตต์จากระดับปัจจุบัน โดยสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้านำเข้านั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 6% ณ สิ้นปี 2557 เป็น 18% ณ สิ้นปี 2579 ดังนั้น เพื่อความมั่นคงของการมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนลจึงมีพันธกิจในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดส่งไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยโดยมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่หรือแต่เพียงผู้เดียว

ปัจจุบันบริษัทมีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า 3 โครงการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 8,491 เมกะวัตต์ บริษัทมีนโยบายในการเข้าร่วมทุนประมาณ 30%-40% ในโครงการดังกล่าว ซึ่งจาก 3 โครงการนั้น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 (น้ำเงี้ยบ 1) ซึ่งตั้งอยู่ใน สปป. ลาวมีความคืบหน้ามากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2562 โครงการน้ำเงี้ยบ 1 มีกำลังการผลิตติดตั้งขนาด 291 เมกะวัตต์และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 27 ปีกับ กฟผ. โดยจะจัดส่งไฟฟ้ามายังประเทศไทยจำนวน 1,459 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี บริษัทถือหุ้น 30% ในโครงการนี้และได้ตั้งงบประมาณลงทุนตามสัดส่วนการร่วมทุนในโครงการนี้จำนวน 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากโครงการน้ำเงี้ยบ 1 แล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม (โครงการกวางจิ) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 7,000 เมกะวัตต์ที่ประเทศเมียนมา (โครงการมายตง) ด้วย ปัจจุบัน กฟผ. ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงานของไทยในการจัดเตรียมเงินทุนให้แก่บริษัทสำหรับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ จำนวน 17,000 ล้านบาทแล้ว

การดำเนินงานของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล นั้นมีความใกล้ชิดและผสานเป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินงานของ กฟผ. และการที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย กฟผ. ก็ทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร ระบบการปฏิบัติงาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการแบ่งปันประสบการณ์ ผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัทก็ได้รับการแต่งตั้งจาก กฟผ. นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนของบริษัทก็ได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันบริษัทอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการนาน 5-10 ปี ดังนั้น จึงคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างน้อยอีก 3 ปีจนกระทั่งโครงการน้ำเงี้ยบ 1 ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโครงการแรกของบริษัทจะเริ่มผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ในปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ