วงสัมมนา"ส่องเศรษฐกิจเอเชียฯ"มองไทยยังโตแบบไร้ทิศทาง ต้องวางแผนตั้งรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2015 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงสัมมนา"TOP DOWN VIEW ส่องเศรษฐกิจโลก เอเชีย และไทย ฟื้นหรือฟุบ" มองไทยต้องจับทิศทางเศรษฐกิจโลก เพื่อตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายการเงินของโลก จากทั้งสหรัฐฯ ,จีน และญี่ปุ่น ขณะที่นักวิชาการมองไทยจะเติบโตอย่างไร้ทิศทางไปอีก 3 ปี โดยการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ จะไม่ช่วยให้ประเทศเติบโต หลังยังขาดการสนับสนุนในด้านการศึกษา, วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยมองเวียดนามเป็นประเทศที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุดในขณะนี้

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวในงานสัมมนามหกรรมวิเคราะห์การลงทุน ภายในหัวข้อ “TOP DOWN VIEW ส่องเศรษฐกิจเอเชีย และไทย ฟื้นหรือฟุบ" จัดโดย สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนว่า ภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจหรือนโยบายการเงินของโลก ทั้งสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ มีการต่อสู้ในด้านการเมือง และความมั่นคง ซึ่งต่อจากนี้เป็นต้นไปประเทศดังกล่าวจะมีการแข่งขันกันทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ โดยจะแข่งขันกันอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ Real sector, Service sector และภาคการเงิน จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นก็เริ่มเข้าซื้อกิจการต่างๆมากขึ้น ทำให้จีนต้องเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนด้านภาคการเงิน ต่อไปนี้จะเห็น fund flow จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม และเครือข่ายของระบบการเงินโลกจะมีมากขึ้นตามไปด้วย ภายใต้การปรับตัวของเศรษฐกิจ 3 ประเทศดังกล่าว โดยสหรัฐฯจะมุ่งสู่การเป็น Finance best economy ในกลุ่มตลาดทุนและตลาดเงินเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันญี่ปุ่น จะเปลี่ยนจากที่เคยเป็น Real sector best economy สู่ความเป็น Service best and Finance best เพิ่มมากขึ้น และจีน จากเดิมที่มุ่งการเป็น Real sector best ในส่วนของโปรดักส์ชั่น ก็จะเริ่มมาสนใจภาคการเงิน ทำให้จีนมีการปลดล็อคระบบ โดยเฉพาะนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยต่างๆ รวมไปถึงการปลดล็อคเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตามไทยจำเป็นต้องเข้าใจต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างต่างๆ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นว่าไทยควรจะต้องรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีทั้งเชิงบวกและลบ

ด้านนายเกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญ AEC กล่าวว่า ไทยยังมีการเติบโตแบบไม่มีทิศทางอยู่ และเชื่อว่าจะเป็นลักษณะนี้ไปอีก 3 ปี ขณะที่ไทยยังต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และอาเซียนบวก 6 ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่มีการค้าขายร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น จากจำนวนประชากรอาเซียนจำนวน 600 กว่าล้านคน มาเป็น 3.4 พันล้านคนในอาเซียนบวก 6 และมีขนาดของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของโลก ทำให้ต่างชาติมีความสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุด

สำหรับประเทศไทย มองว่าการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ จะไม่ช่วยให้ประเทศเติบโต ซึ่งการพัฒนาประเทศต้องขึ้นกับการลงทุนในด้านหลักๆ คือ การศึกษา , ถนน, วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการลงทุนเรื่องถนน และเป็นที่ยอมรับจากต่างชาติว่ามีการเชื่อมโยงกันที่ดี ขณะที่เหลืออีก 4 ด้านดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้พูดถึงว่าจะมีการลงทุนอย่างใด

“การที่มีรถไฟผมมองว่ามันคือหายนะของประเทศ โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 700 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 1,800 บาทต่อเที่ยว ซึ่งต้องมีคนขึ้น 9 ล้านคนต่อปี ถึงจะคุ้มค่าก่อสร้างของต้นทุน 35% นั่นแสดงว่าเจ้งตั้งแต่เริ่มคิด นี่คือสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตามวันนี้เราต้องเกาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญ"นายเกษมสันต์ กล่าว

นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า ประเทศที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุดในขณะนี้ คือประเทศเวียดนาม โดยเวียดนามมีการส่งออกเติบโตราว 10% ทุกปี และน่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจราว 5-6% ทุกปีต่อจากนี้เป็นต้นไป ประกอบกับเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจโตแล้วป่าไม้เพิ่มขึ้น และได้ชื่อว่าเป็นประเทศสิงค์โปร์น้อย รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย ถือได้ว่าในระยะ 3-4 ปีจากนี้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และรายได้ต่อคนเพิ่มขึ้น รวมถึงมีแผนการปฎิรูปทางการเมืองชัดเจน

ขณะที่สิงค์โปร์ ก็มีตำแหน่งประเทศเป็นศูนย์กลางการเจรจาการค้าเสรีโลก อินโดนีเซีย มีระบบเลือกตั้งสามารถให้คนธรรมดามาเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากมีระบบการเลือกตั้งที่ดีมาก มีการต่อต้านคอรัปชั่น และแผนเศรษฐกิจในระยะยาวที่ดำเนินการตามสิงค์โปร์ ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ไปจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกัมพูชา ซึ่งมีนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ก็ทำให้มีภาพการเจรจาที่ชัดเจน ขณะที่ลาวมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 7-8% และจะเป็นแบตเตอรี่ของประเทศในกลุ่ม AEC เพราะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าเป็นหลัก โดยคาดว่าในปี 63 ลาวจะขยับขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางเท่าเทียมกับประเทศไทย ส่วนเมียนมาร์ มีทรัพยากรทางธรรมชาติมาก และพร้อมจะเติบโตราว 7% จากนี้ จากการเปิดประเทศมากขึ้น โดยต้องรอดูการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Standard Chartered Bank Thailand คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงการประชุมสัปดาห์นี้ แต่หากปรับขึ้นก็จะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีปัจจัยเพิ่มขึ้นที่จะไม่ให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย คือการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ ถ้าหากมีการดำเนินนโยบายทางการเงินจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้ ประกอบกับนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ในเรื่องของความสามารถการก่อหนี้ ที่เริ่มชนเพดานอีกรอบหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถเพิ่มเพดานดังกล่าวได้ จะทำให้เกิดการใช้มาตรการรัดเข็มขัด

อย่างไรก็ตามมองว่าเฟดน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเชิงสัญลักษณ์ในระยะต่อไป เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือ โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค.58 หรือเลื่อนไปเป็นปี 59 และน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ